"ตลท."ปรับเกณซอร์กิตเบรกเกอร์ระดับแรกลงเหลือ 8% จากเดิม 10% ช่วงที่ 2 เหลือ 15% จากเดิม 20% และเพิ่มอีกระดับหากลง 20% หยุดซื้อขาย 60 นาที พร้อมปรับกำหนดราคาซื้อขาย(ซิลลิ่ง-ฟลอร์) หุ้นเหลือ 15% จากเดิม 30% มีผล 18 มี.ค.63-30 มิ.ย.63หวังดึงตลาดปรับตัวลงช้าที่สุด พร้อมเสนอรูปแบบกองทุนพยุงหุ้นให้ภาครัฐไปแล้ว นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า จากความผันผวนที่ค่อนข้างมากและมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่ตลาดปิดทำการ ถึงแม้ว่าตลาดหลักทรัพย์จะมีการปรับการขายชอร์ตเซล แต่พบว่าความผันผวนยังมีค่อนข้างมากอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งต่อไปที่ตลาดหลักทรัพย์จะทำคือปรับปรุงเกณฑ์กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุดของหุ้นในแต่ละวัน (Ceiling-Floor) ในตลาด SET และ Mai (สำหรับตราสารหุ้น,หน่วยลงทุน,warrant,DW,ETF,TSR,DR) จากเดิมกำหนดอยู่ที่บวกลบ 30% ของราคาปิดเมื่อวาน จะลดลงเหลือบวกลบ 15% ของราคาปิดเมื่อวาน และสำหรับ Foreign Share จากเดิมที่มีราคาสวิงบวกลบ 60% จะลดเหลือบวกลบ 30% ของราคาปิดเมื่อวาน รวมถึงตลาด TFEX (สำหรับ Index Futures, Options Sector Futures, Single Stock Futures) จากเดิมกำหนดอยู่ที่บวกลบ 30% ของราคาปิดเมื่อวาน จะลดลงเหลือบวกลบ 15% ของราคาปิดเมื่อวาน นอกจากนี้จะปรับกฎเกณฑ์หยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว (เซอร์กิตเบรกเกอร์) จาก 2 ระดับ เป็น 3 ระดับคือ ระดับที่ 1 จากเดิมที่ดัชนีลดลง 10% จะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที แต่กฎเกณฑ์ใหม่หากดัชนีลดลง 8% จะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที,ระดับที่ 2 จากเดิมที่ดัชนีลดลง 20% จะหยุดพักการซื้อขาย 60 นาที แต่กฎเกณฑ์ใหม่หากดัชนีลดลง 15% จะหยุดพักการซื้อขาย 30 นาที,ระดับที่ 3 กฎเกณฑ์ใหม่หากดัชนีลดลง 20% จะหยุดพักการซื้อขาย 60 นาที หลังจากนั้นหากมีเวลาซื้อขาย ตลาดจะเปิดจนไม่มีการเซอร์กิตเบรกเกอร์อีกแล้ว ดังนั้นจะเป็นการปรับปรุงเกณฑ์และมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.63 ทั้งนี้การปรับเกณฑ์ Circuit Breaker จะช่วยให้ตลาดปรับตัวลงช้าลง ตอนนี้วัตถุประสงค์หลักของเราคือจะทำอย่างไรให้ดัชนีปรับตัวช้าลงที่สุด จะเห็นได้ว่ากฎเกณฑ์ที่เราออกไม่ใช่การปิดการซื้อขายแต่เป็นการพยายามทำให้การขายทำได้ช้าลง ตลาดเคลื่อนไหวน้อยลง และดัชนีปรับตัวช้าลง ตอนนี้ต้องชั่งน้ำหนักแล้วว่าเราอยากเห็นการขายแบบรุนแรงหรือค่อยๆขาย ดังนั้นการที่เราเกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์น่าจะทำให้นักลงทุนมีเวลาคิดและมีเวลาได้ข้อมูลใหม่ อีกทั้งปัจจัยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นในประเทศ แต่เป็นปัจจัยต่างประเทศที่เข้ามากระทบกับตลาดเรา ส่วนมาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้เรื่องการปรับเกณฑ์การขายชอร์ต(Short Selling) ซึ่งมาตรการดังกล่าวประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากพอสมควร สะท้อนจากที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับลดลงในคืนที่ผ่านมากว่า 3,000 จุด แต่ตลาดหุ้นไทยวันนี้ได้รับผลกระทบปิดลบเพียง 1% และยังสามารถยืนบวกได้เกือบตลอดทั้งวัน “ในส่วนของเกณฑ์การปรับระดับเซอร์กิตเบรกเกอร์ของตลาดหลักทรัพย์ที่ 8% จากสถิติที่ผ่านมาเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อยครั้ง ขณะที่เกณฑ์เซอร์กิตเบรกเกอร์เดิมที่ระดับ 10% ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาพบว่าเกิดขึ้นเพียง 5 ครั้งเท่านั้น (รวมกับที่เกิดขึ้นในปีนี้) อย่างไรก็ตามหากใช้เกณฑ์ที่ระดับต่ำกว่า 8% อาจเป็นการหยุดการซื้อขายที่ค่อนข้างถี่มากเกินไป โดยระดับที่ ตลท.เลือกที่ 8% เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับมาตรฐานสากลเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐที่หยุดการซื้อขายเมื่อดัชนีปรับลดลงถึง 7%” สำหรับกองทุนพยุงหุ้น ตลท.ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและเสนอรูปแบบกองทุนให้แก่ภาครัฐ ซึ่งความชัดเจนว่าจะจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของภาครัฐ