กรณีต้องสงสัยได้รับเชื้อหรือป่วย ให้จัดเตรียมยาให้เพียงพอในช่วงกักกันโรค แนะหากไม่พอให้ญาติมาพบหมอและรับยาแทน ระบุช่วงกักตัวอาจทำให้คนป่วยเครียดมากยิ่งขึ้น จะต้องดูแลใกล้ชิด หากมีอาการทางจิตรุนแรงต้องแจ้งรพ.ที่รักษาเพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องพามารพ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การแยกกักตนเองที่บ้านเป็นการสังเกตอาการว่าตนเองจะได้รับเชื้อโควิด-19 หรือมีอาการป่วย โดยแยกกักจนเลยระยะเวลาฟักตัวของโรคหรือไม่มีเชื้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อตนเองและสังคมโดยรวม เนื่องจากจะทำให้สามารถสังเกตอาการของตนเองได้ชัดเจนและสร้างความปลอดภัยให้คนรอบข้าง แต่ทั้งนี้ หากผู้ที่แยกกักตนเองที่บ้านมีโรคประจำตัวหรือรักษาโรคทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง ควรเตรียมยาให้เพียงพอสำหรับช่วงการแยกกักตนเอง โดยพยายามไม่ขาดยา หากอยู่ในระหว่างการแยกกักตนเองที่บ้านและพบว่ายาที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อช่วงระยะเวลาการแยกกักที่เหลือ สามารถให้ข้อมูลเรื่องอาการของตนเองกับญาติ และมอบหมายญาติเพื่อมาพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับยาจิตเวชแทนได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช โดยไม่มีความจำเป็นต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลด้วยตนเอง เพราะอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ตนเองและผู้ป่วยอื่นๆ นพ.เกียรติภูมิ กล่าว่า ในช่วงที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 อาจเป็นช่วงที่ผู้ป่วยจิตเวชมีความเครียดมากขึ้นจากความยากลำบากในการปรับตัวและความวิตกกังวลจากคนรอบข้าง ญาติและคนใกล้ชิดควรดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด พูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ใช้เวลาร่วมกันในการแนะนำการดูแลตนเองทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยจิตเวชมีอาการด้านสุขภาพจิตรุนแรงมากขึ้นในขณะที่อยู่ระหว่างช่วงการแยกกักตนเองที่บ้านนั้น ขอให้ญาติรีบโทรแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่รักษาอยู่เดิม เพื่อประเมินความเสี่ยงและเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจิตเวช ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตขอเน้นย้ำว่าทุกคนมีส่วนร่วมช่วยให้สถานการณ์ในขณะนี้เบาบางลงได้ โดยต้อง“ตระหนักแต่ไม่ตระหนก” ดูแลป้องกันตนเองและคนใกล้ชิดอย่างมีสติ ลดเสพข่าวที่มาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือซึ่งอาจสร้างความตื่นตระหนก ไม่ส่งต่อและไม่แชร์ข้อความที่ดูเกินจริงและไม่ได้รับการยืนยัน ลดความเกลียดชังในสังคม และควรติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขทางช่องทางต่างๆอย่างใกล้ชิด หากมีข้อสงสัย สอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากเกิดความเครียดหรือวิตกกังวลอย่างมาก โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง