เมื่อ 17 มี.ค. 63 เวลา 10.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ประจำศูนย์วิทยุ สภ.เมืองยะลา ได้รับเหตุว่า มีเหตุ วางระเบิดหน้าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ อ.เมือง จ.ยะลา มีผู้บาดเจ็บจำนวนหลายราย หลังรับแจ้ง จึงได้รายงานให้ พ.ต.อ.นราวี บินแวอารง ผู้กำกับ สภ.เมืองยะลา ทราบพร้อมเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด และ กองพิสูจน์หลักฐานที่ 10 ยะลา และ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ ผบช.ภ.9 จากการสอบสวนในเบื้องต้นทราบว่า ระเบิด ลูกแรก คนร้ายได้นำมาวางไว้ที่ต้นไม้ป้ายศูนย์อำนวยการบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเกิดระเบิดขึ้นทำให้กำแพงพังทลายลงมา ต่อจากนั้นอีก 5 นาที ระเบิดลูกที่สองก็ดังขึ้น ภายในรถยนต์กระบะโตโยต้าสีขาว บรรทุกไม้ ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนจอดอยู่หน้าป้ายเช่นเดียวกัน ลูกนี้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย รวมทั้งผู้สื่อข่าวด้วย ล่าสุดรวมผู้บาดเจ็บทั้งหมด 18 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลศุนย์ยะลา ต่อมา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รุดลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุด้วยตนเอง จากการตรวจสอบพบว่าคนร้ายได้นำระเบิดแสวงเครื่องลูกแรกน้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ว่างไว้ใกล้รถยนต์ที่บรรทุกระเบิด ซึ่งลูกแรกเป็นการล่อให้เจ้าหน้าที่ออกมา ส่วนลูกที่สอง อยู่ในรถยนต์กระบะน้ำหนัก กว่า 30 กิโลกรัม ใส่ไว้ในรถกระบะ ทำให้มีแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิดกระเด็นไปได้ไกลกว่า 30 เมตร รถยนต์ที่บรรทุกระเบิดเหลือแต่เศษเหล็ก ฉีกขาดกระเด็นไปไกล นอกจากนี้ ยังทำให้อาคารสำนักอาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับความเสียหายถูกสะเก็ดระเบิดกระจกแตกหลายสิบบาน และยังทำให้ประชาชนที่ผ่านไปมาถูกสะเก็ดระเบิดอีกด้วย ส่วนสาเหตุเป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มคนร้ายเพื่อตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการแจ้งเตือนมาแล้วว่า ภายในเดือนนี้ กลุ่มคนร้ายจะก่อเหตุในเขตเมือง แต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ ด้าน พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นบริเวณด้านหน้า ศอ.บต. ทำให้ป้ายศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับความเสียหาย และมีเจ้าหน้าที่และประชาชนบางส่วนได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิดนั้น โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นขณะที่ เลขาธิการ ศอ.บต. ร่วมประชุมศูนย์ประสานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบ โรค COVID-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ว่า ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเหตุเกิดจากผู้ไม่หวังดีมุ่งทำร้ายชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยกัน “ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่จะต้องยืนด้านไหน ในขณะที่อีกด้านเป็นการประชุมเพื่อแก้ปัญหาของโรค COVID-19 เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยกันป้องกันและดูแลไม่ให้มีการระบาดต่อเนื่อง แต่ในขณะที่คนอีกกลุ่มต้องการทำลายทุกอย่าง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากวิถีชีวิตของประชาชนชาวไทยมุสลิมแตกต่างจากพื้นที่อื่น มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และปฏิบัติศาสนกิจในวันศุกร์ ซึ่งมีกลุ่มคนหมู่มากมารวมตัวกัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหามาตรการร่วมกันต่อไป อีกทั้งยังมีการเกิดโรค COVID-19 ในกลุ่มคนที่ไปร่วมชุมชนทางศาสนาที่ประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งมีการยืนยันแล้ว 2 คน จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อจากคนกลุ่มนี้ด้วย