วันที่ 16 มีนาคม 2563 ที่อาคารทูแปซิฟิคเพลส นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 1 ในสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคประชาชาติไทย ได้เชิญสื่อมวลชนรับประทานอาหารและรับฟังมาตรการของกระทรวงแรงงานในการบริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยนายสุเทพ กล่าวว่า แรงงานไทยที่จะเดินทางกลับประเทศนั้น กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้อัคราชทูตที่ปรึกษาแรงงานในประเทศต่างๆจัดเก็บข้อมูลทั้งหมด เช่น มีถิ่นภูมิลำเนาที่ใด มีความชำนาญด้านไหน จะเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศอีกหรือไม่ ซึ่งอนาคตหากยังต้องการเดินทางกลับไปทำงานอีกก็จะส่งกลับไปทำงานอย่างถูกต้องโดยกระทรวงทรวงงานจะพยายามจัดส่งไปทำงานต่างประเทศเองและจะมีการเจรจากับประเทศที่มีความต้องการแรงงานเพื่อขอโควต้าตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่ไม่กลับไปทำงานนั้น ก็จะสนับสนุนในเรื่องการประกอบอาชีพ นายสุเทพกล่าวว่า เชื่อว่าจะมีสถานประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวขาดตอน ทำให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างประสบปัญหา ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังจัดทำทะเบียนอิเลคทรอนิคเพื่อจับคู่ตำแหน่งงาน นอกจากนี้จะมีการวิเคราะห์ว่ามีกิจการประเภทใดบ้างที่ต้องหยุดกิจการ โดยจะมีการแยกคนงานแต่ละด้านเพื่อสนับสนุนให้ทำงานแห่งใหม่ และจะถามความสมัครใจ หากต้องการประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ เช่น ขายของทางออนไลน์ ทำโฮมสเตย์ ก็พยายามจัดหารเงินทุนให้ นายสุเทพกล่าวว่า สำหรับนักศึกษาที่จบใหม่ ได้ประสานงานกับสถาบันการศึกษาว่ามีจบใหม่จำนวนเท่าไร ด้านไหนบ้าง หากต้องการทำงานเลยก็จะหาตำแหน่งงานว่างไว้รองรับ แต่ที่จบมาบางคณะ เช่น รัฐศาสตร์ ซึ่งจะมีโอกาสตกงานสูง จะได้หารือกันว่าสามารถไปทำอาชีพอื่นได้หรือไม่ ส่วนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง แม้จะได้รับเงินประกันว่างงาน แต่เงินที่ได้รับ 2-3 เดือนก็คงหมด ซึ่งสำนักงานประกันสังคมอาจต้องเข้ามาดูแลมากขึ้น “ผมว่าเลิกพูดเสียทีว่าอีก 30 ปี กองทุนประกันสังคมจะเงินหมด ในเมื่อวันนี้ยังมีเงินอยู่ เราก็ต้องพยายามหารายได้เพิ่ม เช่น ตั้งเป็นธนาคาร ซึ่งเรื่องนี้คงต้องไปหารือกับนายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ การตั้งธนาคารนั้นจะทำให้ สปส.มีรายได้เพิ่มแน่ๆ เพราะมีลูกค้าคือลูกจ้างและนายจ้างอยู่แล้ว แค่ค่าธรรมเนียนจากการโอนเงิน ก็ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นแล้ว”นายสุเทพ กล่าว นายสุเทพกล่าวว่า ขณะนี้การค้าขายยอดตกลงมาก ดังนั้นจึงมีทั้งนายจ้างไม่อยากจ้างลูกจ้างเต็มเวลา แต่อยากจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์พาร์ท ไทม์ขึ้นมา เพื่อให้ลูกจ้างที่อยู่ระหว่างการพักงานได้มีโอกาสทำงานเป็นรายชั่วโมง ทั้งนี้จากข้อมูลในเอกสารข่าวของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยในต่างประเทศทั่วโลก 449,891 คน โดย 5 อันดับแรกที่มีแรงงานไทยมากที่สุดได้แก่ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ใต้หวัน อิสราเอล และญี่ปุ่น ขณะที่จำนวนแรงงานไทยในต่างประเทศที่ทำงานในประเทศที่เสียง ประกอบด้วย 1.เสี่ยงเดิม 4 ประเทศ คือ เกาหลี มีแรงงานจำนวน 178,487 จีน(ฮ่องกงและมาเก๊า) 17,200 คน อิหร่าน 114 คน อิตาลี 94 คน 2.จำนวนแรงงานไทยในประเทศเสี่ยงใหม่ 5 ประเทศ ได้แก่ สเปน 97 คน ฝรั่งเศส 52 คน เยอรมัน 210 คน อเมริกา 1,194 คน สวิตเซอร์แลนด์ 44 คน รายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุที่นายสุเทพต้องออกมาให้ข่าวด้วยตัวเองเนื่องมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความไม่ฉับไวในสถานการณ์ของกระทรวงแรงงานที่มี ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าแนวโน้มการเลิกจ้างจะสูงเป็นประวัติการณ์เนื่องจากธุรกิจต่างๆได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กันถ้วนหน้าจนต้องเลิกกิจการ ทำให้นายสุเทพต้องออกโรงเอง