ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอม (Fake News)โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,113 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 3 - 5 มีนาคม 2563 ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องปัญหา Fake News ในปัจจุบันการติดต่อสื่อสารได้พัฒนาทำให้เกิดการติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆได้อย่างรวดเร็ว และการส่งต่อๆกันนั้นทำให้เกิดการแพร่กระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างได้ ดังนั้นปัญหาFake News เป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจและหาแนวทางในการแก้ไข การตรวจสอบข่าวปลอมของคนในสังคมไทยนั้นมีการตรวจสอบหรือไม่ มีการตรวจสอบด้วยวิธีใด ภาครัฐจะต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างไรในการกำกับดูแลและควบคุมFake News ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบกับสังคม ทำให้เกิดความแตกตื่นของคนในสังคม ในสถานการณ์ที่คนทุกคนในสังคมสามารถติดต่อสื่อสารจากหนึ่งคนไปยังคนจำนวนมากๆได้อย่างรวดเร็ว และมีการส่งต่อไปยังกว้างขวางและรวดเร็ว ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาFake News ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ กล่าวว่า ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยพบเห็นFake News ร้อยละ 75.7 และเคยตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็น Fake News ที่ได้รับผ่านทางสื่อต่างๆ ร้อยละ 54.2 โดยมีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่คิดว่าเป็น Fake News ด้วยวิธีค้นหาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 59.2 อันดับสองคือ ไม่คิดจะตรวจสอบ ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ สอบถามผู้เชี่ยวชาญ ร้อยละ 16.9 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่พบเห็น Fake New ผ่านเฟซบุ๊ค (Facebook) เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 50.1 อันดับสองคือ เว็บไซด์ (Website) ร้อยละ 12.5 อันดับที่สามคือ ไลน์ (Line) ร้อยละ 10 อันดับที่สี่คือ มีคนเล่าให้ฟัง ร้อยละ 8.6 อันดับที่ห้าคือ ทวิตเตอร์ (Twitter) ร้อยละ 7.7 และพบเห็น Fake News มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นการเมือง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 32.7 อันดับสองคือ หลอกขายสินค้า ร้อยละ 21.5 อันดับที่สามคือ สุขภาพ ร้อยละ 19.9 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ กล่าวต่องว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการนำเสนอข่าวสารจากสื่อมวลชน มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลาง ร้อยละ 47.5 รองลงมาคือมีความน่าเชื่อถือในระดับมาก ร้อยละ 33.4 และมีความน่าเชื่อถือในระดับน้อย ร้อยละ 19.1 โดยคิดว่าข้อมูลข่าวสารจากสื่อที่น่าเชื่อถือมากที่สุดคือ โทรทัศน์ ร้อยละ 25.3 อันดับสองคือ เว็บไซด์สำนักข่าว ร้อยละ 23.9 อันดับที่สามคือ หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 15.6 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าประชาชนสามารถแยกแยะ Fake News ได้ ร้อยละ 51.8 และคิดว่า Fake News จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่ความขัดแย้ง ร้อยละ 65.5 โดยอยากให้ภาครัฐมีมาตรการในการป้องกันและปราบปราบ Fake News ร้อยละ 82.1