"พุทธิพงษ์" เผย นายกฯสั่งก.คลังหา มาตรการเยียวยาคนทำอาชีพอิสระ-ลูกจ้างรายวัน หลัง"โควิด-19​"พ่นพิษเศรษฐกิจ เร่งหาแผนตรวจโรคแรงงานต่างด้าวเข้าไทยหลังเยี่ยมบ้านเกิด วันที่ 16 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล​ นาย พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า รัฐบาลทราบถึงกรณีที่การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อประชาชนในหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ทำงานรับจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนรายวัน โดยหลังจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ จะมีแนวทางที่ชัดเจนออกมา อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแนวทางการเยียวยาให้ครบถ้วน นอกเหนือจากเดิมที่ได้จัดเตรียมมาตรการ สำหรับการช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยวและเรื่องอื่นๆ โดยจะให้มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ และผู้ทำงานรับจ้างที่ได้รับค่าตอบแทนรายวัน ซึ่งคนส่วนนี้จะได้รับผลกระทบหากสถานประกอบการใดต้องปิดพักการทำงานในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังเร่งหามาตรการรองรับกรณีของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่จะลาหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อเดินทางกลับประเทศบ้านเกิด โดยจะต้องมีการตรวจคัดกรองโรคคนเหล่านี้ในช่วงที่เขาจะเข้าประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงอื่นๆที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันไปประสานงานกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการในการดำเนินการดังกล่าวด้วย นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รายงานในที่ประชุมว่า เชื้อไวรัสนี้จะติดตามแพร่กระจายไปเมื่อมีการเคลื่อนย้ายของบุคคลจำนวนมาก ดังนั้นหากให้มีการหยุดยาว ก็อาจจะทำให้มีกลุ่มคนจำนวนมากเดินทางไปที่ต่างๆ หรือกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเผยแพร่เชื้อดังกล่าวไปยังพื้นที่จังหวัดต่างๆมากขึ้น จึงควรมีแนวทางการเลื่อนวันหยุดยาวออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม มาตรการหลายๆอย่างที่ออกมาจากในการประชุมศูนย์บริหารฯ ในวันนี้ (16 มี.ค.) จะถูกนำเสนอเข้าสู่การขอควมเห็นชอบจากของที่ประชุมครม.อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) ขณะเดียวกันจะมีมาตรการบางส่วนที่สามารถทำได้ทันที เมื่อถามว่าที่ประชุมได้หารือถึงการปิดประเทศด้วยหรือไม่ รมว.ดิจิทัลฯ กล่าวว่า สาระสำคัญจริงๆอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขและฝ่ายแพทย์ การประชุมทุกอย่างของเรายึดแนวทางการพิจารณาสถานการณ์จริงจากฝ่ายแพทย์ก่อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยังยืนยันว่ากระบวนการต่างๆที่ได้เตรียมพร้อมไว้เป็นเรื่องของการเตรียมการสำหรับการรักษาพยาบาล เพื่อพร้อมรับสถานการณ์ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมีการประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวัน โดยนำสถานการณ์ด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลมาเป็นตัวตั้ง