วันศุกร์ ที่ 13 มีนาคม 2563 เวลา 10.30 น. นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำลำนางรองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลโนนดินแดง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นประธานการประชุมติดตามการบริหารจัดการลุ่มน้ำของสำนักงานชลประทานที่ 8 รวมทั้งโครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยผู้แทนกรมชลประทาน ได้รายงานสรุปเกี่ยวกับการบริหารจัดการลุ่มน้ำในเขตพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 8 ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบรวม 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ รวม 94 อำเภอ จำนวน 29.862 ล้านไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตลุ่มน้ำมูลประกอบด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำสาขา 22 ลุ่มน้ำสาขา จาก 31 สาขาของลุ่มน้ำมูล โดยมีโครงการชลประทานขนาดใหญ่ 8 แห่ง ขนาดกลาง 71 แห่ง และโครงการชลประทานขนาดเล็ก โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการหมู่บ้านป้องกันชายแดน 1,495 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำได้รวม 2,295 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานรวม 1,361,554 ไร่ พื้นที่รับประโยชน์รวม 619,390 ไร่ ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์ มีขนาดพื้นที่ 10,322 ตารางกิโลเมตร หรือ 6.45 ล้านไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 3.651 ล้านไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ลุ่มน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วย 10 ลุ่มน้ำสาขา ได้แก่ ลุ่มน้ำจักราช ลุ่มน้ำลำปลายมาศ ลุ่มน้ำลำน้ำมูลส่วนที่ 2 ลุ่มน้ำลำสะเทด ลุ่มน้ำลำพังชู ลุ่มน้ำห้วยแอก ลุ่มน้ำลำนางรอง ลุ่มน้ำลำปะเทีย ลุ่มน้ำห้วยตะโคง และลุ่มน้ำลำชี สถานการณ์น้ำในปัจจุบันพบว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในเขตพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 16 แห่ง ซึ่งมีศักยภาพเก็บกักน้ำรวมกันทั้งสิ้น 295.38 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 65.63 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 22.22 % มีปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 50.18 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 16.99 % ซึ่งน้อยกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2562 จึงคาดว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งนี้ กรมชลประทานได้วางแผนแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำไว้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ต้นน้ำลำนางรอง ซึ่งเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2521 ความว่า "ควรพิจารณาวางโครงการชลประทาน ประเภทอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำทางบริเวณต้นน้ำลำนางรองและต้นน้ำลำปลายมาศ รวมทั้งตามลำน้ำสาขาของลำน้ำทั้งสอง และดำเนินการก่อสร้างโดยเร่งด่วน เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรในเขตอำเภอละหารทราย จังหวัดบุรีรัมย์ และในเขตอำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา สามารถทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝน ฤดูแล้ง และมีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดปีด้วย" จากนั้น กรมชลประทาน จึงได้ตั้งเป็นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำนางรอง เพื่อควบคุมการจัดการจัดสรรน้ำให้แก่เกษตรกรในการเพาะปลูกพืช ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการเขื่อนลำนางรองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองมะนาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการอ่างเก็บน้ำลำจังหันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการอ่างเก็บน้ำลำปะเทียอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งโครงการฯ สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการฯ ได้อย่างเพียงพอตลอดปี ต่อมาช่วงบ่ายคณะเดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำลำจังหันอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสำโรงใหม่ อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดกลาง ขนาดความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 36 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา เป็นคลองดาดคอนกรีต ความยาวรวม 25.214 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่ชลประทาน จำนวน 25,255 ไร่ ราษฎรจำนวน 3,305 ครัวเรือน จำนวน 18 หมู่บ้าน มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรได้อย่างเพียงพอตลอดปี และร่วมปล่อยพันธุ์ปลากระแหและปลาจาด จำนวน 100,000 ตัว ก่อนเดินทางต่อไปยังประตูระบายน้ำบ้านเทพพยัคฆ์ ตำบลตาจง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อดูสภาพพื้นที่โครงการ โอกาสนี้องคมนตรี ได้พบปะเยี่ยมราษฎร และกล่าวถึงความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อราษฎร ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้