นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า... “หน้ากาก 200 ล้านชิ้นหายไปไหน?” ในคลิป คุณสนธิ ลิ้มทองกุลทำหน้าที่สื่อเจาะลึก Investigative Journalism เผยแพร่ข้อมูล ทำให้ผมมีข้อสงสัยว่า เกิดมีการใช้ข้อมูลภายในที่ขัดหลักธรรมาภิบาล หรือไม่? เรื่องเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยนั้น กระทบต่อความเสี่ยงของประชาชน และบุคลากรสาธารณสุข หมอ พยาบาล ที่ช่วงหนึ่งขาดแคลน กรณีหากมีการหาประโยชน์ส่วนตนที่มิชอบ ก็จะเป็นเรื่องความโลภที่ให้อภัยกันไม่ได้ทีเดียว ดังนั้น คุณจุรินทร์ ในฐานะรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และพลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบรัฐบาล จึงต้องรีบชี้แจงต่อประชาชน ในประเด็นต่างๆ รวมถึงต่อไปนี้ 1) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ภายหลังจากโควิด-19 มาถึงไทยและประชาชนเริ่มกังวลเกี่ยวกับหน้ากาก กรมการค้าภายในเชิญผู้ผลิตรายใหญ่ 11 รายมาประชุม -ผู้ผลิตยืนยันมีสต็อค 200 ล้านชิ้น ถูกต้องหรือไม่? -สต๊อค 200 ล้านชิ้นอยู่ในมือผู้ผลิตแต่ละราย เท่าใด? 2) ในวันถัดไป 30 ม.ค. รมว.พาณิชย์ตรวจเยี่ยมโรงงาน ยืนยันว่ามีสต๊อค 200 ล้านชิ้น ข่าวระบุว่า 10 โรงงานใหญ่มีกำลังผลิต 100 ล้านชิ้น/เดือน กรมประเมินความต้องการใช้จะเพิ่มจาก 30 ล้านชิ้น/เดือน ขึ้นเป็น 40 ล้านชิ้น/เดือน ถึงแม้ไม่ผลิตเพิ่ม สต็อคก็พอใช้ 4-5 เดือน (ดูข่าว) -รมว.พูดถูกต้องหรือไม่? 3) ในขณะที่ร้านค้าพากันแจ้งลูกค้าไม่มีหน้ากากขาย เมื่อ 3 ก.พ. (เพียง 4 วันหลังจาก รมว.เยี่ยมโรงงาน) กระทรวงพาณิชย์ก็ประกาศหน้ากากเป็นสินค้าควบคุม และเมื่อ 4 ก.พ. ก็ประกาศให้ผู้ผลิตต้องแจ้งสต๊อคของเดือน ม.ค. -สต๊อคที่แจ้งตรงกับ 200 ล้านชิ้นหรือไม่? -หากลดไปจาก 200 ล้านชิ้น ลดลงที่ผู้ผลิตรายใด? -กรมได้ตรวจสอบสต๊อคที่แจ้งหรือไม่ กรมได้ทำอย่างไรเพื่อแน่ใจว่า ไม่มีการแจ้งสต๊อคต่ำกว่าที่มีอยู่จริง? 4) มีข้อสงสัยว่าเอกชนอาจจะรู้ล่วงหน้าว่ากำลังจะมีการควบคุมหน้ากาก จึงเร่งส่งออกในเดือน ม.ค./ก.พ. -มีการส่งออกในเดือน ม.ค. และ ก.พ. จำนวนเท่าใด โดยผู้ใด ไปยังประเทศไหน? -ปริมาณส่งออกมีเพิ่มขึ้นมากอย่างผิดสังเกต ในช่วง 4-5 วัน (ระหว่าง รมว.ตรวจสต๊อคกับประกาศควบคุม) หรือไม่? -มีการส่งออกที่เกิดขึ้นภายหลัง 4 ก.พ. ที่กรมอนุญาตเนื่องจากอ้างว่า เป็นการส่งออกตามสัญญาซื้อขายที่เกิดขึ้นก่อนวันควบคุม หรือไม่? 5) มีข้อสงสัยว่ามีผู้ผลิตบางรายอาจจะสำแดงกำลังผลิตต่ำกว่าจริง (ตัวเลขที่กล่าวถึงภายหลังระบุกำลังผลิตเพียง 30-35 ล้านชิ้น/เดือน) เพื่อจะนำส่งกรมไม่ครบถ้วน ส่วนที่เหลือเพื่อเล็ดรอดออกไปตลาดมืด -กรมทำการตรวจสอบกำลังผลิตที่สำแดง เทียบกับตัวเลขในปี 2562 หรือไม่? -ถ้าไม่ตรวจสอบ เพราะเหตุใด? ผมเชื่อว่าทั้งข้าราชการและผู้ที่เกี่ยวข้องยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด เป็นไปไม่ได้ที่จะมีใจไม้ใส่ระกำ หาประโยชน์ส่วนตนบนความทุกข์ของประชาชน และทรยศต่อผู้กล้านักรบเสื้อเกาวน์ของเรา แต่ถ้าหากมีสิ่งไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ส่วนราชการจำเป็นต้องดำเนินคดีอย่างฉับพลัน โดยใช้กฎหมายฟอกเงินอายัดทรัพย์ของคนที่เกี่ยวข้องไว้ก่อน เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง และจะต้องหาทางป้องกันสำหรับอนาคต สภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกนี้ ประชาชนจึงอดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบระหว่างผู้นำแต่ละชาติ เป็นโอกาสที่ผู้นำจะสร้างความประทับใจในระดับโลก