สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอขยายวงเงินกองทุน SSF เพิ่มเติมให้มากกว่า 2 แสนบาท พยุงตลาดหุ้น ดีกว่าการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น ด้าน บล.เอเซียพลัส ชี้ปรับเกณฑ์การขายชอร์ต มีน้ำหนักค่อนข้างเบา เป็นแค่การลดความร้อนแรงเก็งกำไร นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ปรับเกณฑ์การขายชอร์ตให้ได้เฉพาะราคาที่สูงกว่าราคาซิ้อขายครั้งสุดท้าย (Up Tick)คือ ต้องวางชอร์ตที่ราคาเสนอขาย (offer)หรือสูงกว่า ว่าคงช่วยลดความผันผวนลงได้บ้าง เพราะที่ผ่านมามีพฤติกรรมการเข้ามาเก็งกำไรผ่านการทำชอร์ตเซล ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรการในการรักษาเสถียรภาพของราคาหุ้น โดยการตั้งกองทุนพยุงหุ้นนั้น ต้องตอบให้ชัดว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีหลายรูปแบบเช่น การใช้เงินรัฐ แมทชิ่งฟันด์ระหว่างรัฐและเอกชน แต่มาตรการที่ได้ผลดีที่สุดคือ รัฐต้องไม่เข้ามาบิดเบือนกลไกลตลาดด้วยการตั้งกองทุนมาซื้อหุ้นอย่างเดียว แต่ควรเพิ่มวงเงินการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว หรือ SSF เพื่อจูงใจให้ประชาชนลงทุนจะได้ประโยชน์มากกว่า และใช้เม็ดเงินน้อยกว่าการตั้งกองทุนพยุงหุ้น เพราะวงเงินพิเศษที่เพิ่ม 200,000 บาท ในการลงทุนช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย.อาจจะไม่เพียงพอ ถ้าหากจะให้กระตุ้นตลาดหุ้นและให้ใช้สิทธิ์ได้เป็นการชั่วคราวควรเพิ่มวงเงินมากกว่านี้อาจเป็น 500,000 บาท นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัสกล่าวว่า การปรับเกณฑ์การขายชอร์ตไม่ได้เป็นการห้ามทำชอร์ตเซล เพียงแต่ลดความร้อนแรงของการทำชอร์ตเซลเท่านั้น โดยน้ำหนักของมาตรการถือว่าค่อนข้างเบา ผิดจากความคาดหมาย และอาจทำให้ SET Index ที่ดีดตัวขึ้นมาแรงช่วยเช้า ย่อตัวกลับลงไปได้ในการซื้อขายข่วงบ่าย เพราะโดยกลไกแล้ว นอกจากชอร์ตเซลยังมีอีกหลายเรื่องที่เป็นการเพิ่ม Momentum ให้กับตลาดเช่น Block Trade,อนุพันธ์ประเภทต่างๆ,การซื้อขายด้วย Margin เป็นต้น ซึ่งกลไกส่วนที่เหลือยังคงทำงานอยู่ และเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในช่วงต่อไป