สถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่แพร่ระบาดหนักหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งบางประเทศอย่าง “อิตาลี” รัฐบาลมีคำสั่งกักกันประชาชนทั้งประเทศราว 60 ล้านคน ด้วยมาตรการจำกัดการเดินทาง เพื่อกักกันโรคหวังสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังพบผู้ป่วยสะสมในประเทศกว่า หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 600 คน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดย “คริสติน ลาการ์ด” ประธานอีซีบี เตือนให้ประเทศสมาชิกทั้ง 27 ประเทศในกลุ่มอียู ดำเนินมาตรการเร่งด่วน รองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็ว ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เบื้องต้นที่ประชุมอีซีบีมีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน โดยดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.50 และอาจจะมีนโยบายปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์ “หากไม่เร่งออกมาตรการ เศรษฐกิจอาจจะวิกฤติเหมือนกับเมื่อปี 2551 ในครั้งนั้น หลายประเทศ เช่น กรีซ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ สเปนและไซปรัส มีหนี้สาธารณะจำนวนมาก จนต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากหลายฝ่าย รวมถึงอีซีบีและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ของภาครัฐและช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหาทางการเงิน” ขณะที่ประเทศไทยการแพร่ระบาดยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่รัฐบาลได้เพิ่มมาตรการในการควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีทีท่าที่จะหยุดการแพร่ระบาดได้ง่าย ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศต้องชะงักการเติบโตในทุกส่วน โดย “ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะหายไปราว 2.78 แสนล้านบาท ส่วนด้านการส่งออก คาดว่าจะติดลบร้อยละ 1.9 อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซึ่งหากใช้เวลา 6 เดือนเต็ม มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเพียงร้อยละ 1.5 รวมทั้งภาพรวมการลงทุนของเอกชนในปีนี้ไม่สดใส และมีแนวโน้มจะชะลอตัว เช่นเดียวกับ “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย หรือ TCC-CI ยังคงลดลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบ 27 เดือน หรือ 9 ไตรมาส อยู่ที่ระดับ 44.9 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง สาเหตุหลักมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ หดตัวลง ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ส่งผลตลาดในประเทศและตลาดโลกหดตัวลงจากความต้องการที่ลดลง ทั้งนี้ประเมินว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายภาคเศรษฐกิจประมาณ 500,000 ล้านบาท ในภาคท่องเที่ยวและบริการในช่วง 6 เดือนแรก ของปีนี้ ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือประมาณ 150,000 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการเสริม โดยมีข้อเสนอ 5 แนวทาง คือ มาตรการเพิ่มความเชื่อมั่นประชาชนเกี่ยวกับการควบคุมสถานการณ์ไวรัส, การบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ, กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ, เร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และจัดสรรงบประมาณลงไปถึงประชาชนในระดับฐานรากอย่างจริงจัง ทำให้รัฐบาลต้องจัดหนักคลอดมาตรการเยียวยาผลกระทบให้กับประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจทั้งด้านทางการเงิน มาตรการทางภาษี และมาตรการของหน่วยงานต่าง ๆ โดย “อุตตม สาวนายน” รมว.คลัง เผยว่า ประเมินทุกมาตรการที่ออกมาครั้งนี้จะช่วยทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 แสนล้านบาท ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจปัจจุบันต้องใช้เวลาประเมินอีกระยะหนึ่ง จากนั้นจึงพิจารณาการออกมาตรการชุดใหม่เข้ามาดูแล สำหรับมาตรการที่ออกมาเบื้องต้นจะใช้เงินรวมกันไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งวงเงินสินเชื่อและวงเงินงบประมาณ อาทิ จัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ที่ได้รับผล กระทบวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาทโดยธนาคารออมสินจะปล่อยกู้วงเงินพิเศษ 0.01% เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ต่ออีกทอด คิดดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน 2% เป็นระยะเวลา 2 ปี สามารถกู้ได้รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท ,พักเงินต้น ผ่อนภาระดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เป็นลูกค้าสถาบันการเงินของรัฐ ,การช่วยเหลือลูกหนี้โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2564 ทั้งการดูแลลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จะลดวงเงินผ่อนชำระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% และแปลงหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นระยะยาวได้ ,การจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของสำนักงานประกันสังคมวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท โดยนายจ้างและลูกจ้างสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ย 3% เป็นเวลา 3 ปี และคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้บ้านที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 21.5 ล้านรายจะทยอย คืนตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 คิดเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท ตรึงค่าเอฟทีเดือน พ.ค. 2563 โดยลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นเงิน 4,534 ล้านบาทและการลดค่าไฟฟ้า 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท 3 เดือนตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 พร้อมขยายเวลาจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เวลานี้.....คนไทยพูดเป็นเสียงเดียวว่า “ตอนนี้เหนื่อยมาก” เงินในกระเป๋าแฟบแทบจะไม่เหลือ! สุดท้ายต้องลุ้นมาตรการรัฐบาลว่าจะมาอัดฉีดได้มากน้อยแค่ไหน!?!