ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล ชาวนาไม่เพียงแค่เป็นกระดูกสันหลัง แต่เป็นสังขารของแผ่นดิน สังขารคือสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต อันประกอบด้วยรูป(ร่างกาย)และวิญญาณ(จิตใจ) ชาวนาไทยก็เป็นดั่งนั้น สังคมไทยคือสังคมที่ทำนามาแต่โบราณ สร้างวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ หลังเข้าพรรษาฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ชาวนาดำนาเสร็จก็เฝ้าดูการเจริญเติบโตของกอข้าวอย่างมีความสุข น้ำที่ขังอยู่ในนายังมีกุ้งหอยปูปลามาอยู่อาศัยจำนวนมาก ปู่จะออกวางเบ็ดตอนเย็นๆ พอตอนเช้าก็ไปเก็บเบ็ด ได้ปลามาพอทำกับข้าวได้ทุกมื้อทุกวัน ปู่มีเครื่องมือจับปลาหลายชนิด นอกจากเบ็ดแล้ว ก็มีลันสำหรับจับปลาไหล สวิงสำหรับช้อนกุ้งและปลาตัวเล็กๆ แหสำหรับเหวี่ยงจับปลาในแอ่งน้ำกว้างๆ ไซสำหรับดักจับปลาตามน้ำที่ไหลผ่าน และโมงสำหรับจับปลาในหน้าน้ำหลากจำนวนมากๆ ปูนาเป็นอาหารแสนอร่อยที่สุดในความคิดของผม ย่าจันทร์จะเอาปูมาแกะกระดองออกเอาแต่เนื้อ ส่วนก้ามปูที่มีขนาดไม่ใหญ่นักก็ปิ้งไฟให้ผมกินเล่นระหว่างรอเวลาทำกับข้าว เนื้อปูที่ได้จากปูนับสิบตัวจะถูกสับให้ละเอียด ต้มกับผักกลิ่นหอมๆ หลายชนิด เรียกว่าอ่อมปู ย่าจะแยกอ่อมปูเป็นสองส่วน คือที่ไม่เผ็ดนักสำหรับผม และที่รสเผ็ดสำหรับคนอื่นๆ อาหารอีกอย่างหนึ่งที่ผมชอบมากก็คือปลาช่อนหมักค้างคืนแล้วนึ่งทานกับผักนึ่ง ย่าจะเอาเกลือมาหมักปลาช่อนตัวไม่โตนักแต่เพียงเล็กน้อย วางไว้ในชามค้างคืนเพื่อให้เนื้อปลานิ่มหอม เช้ามาก็ล้างผักมาวางรองตัวปลา ที่ขาดไม่ได้คือน้ำเต้ารสหวานกับใบแมงลักหอมชื่น ย่าจะทำแจ่วโดยปลาร้าสับใส่พริกเผาหอมเผากระเทียมเผา และที่ขาดไม่ได้คือ “ของส้ม” หรือของที่มีรสเปรี้ยว โดยทั่วไปจะใช้มะเขือเทศ หรือส้มมะขาม (มะนาวจะหารับประทานยากและปลูกกันน้อย เวลาทำลาบก้อยต้องไปหาซื้อมาเป็นพิเศษ) แต่ถ้าจะให้รสอร่อยเด็ดต้องใช้มะกอกป่า เพราะจะเปรี้ยวกลมกล่อมและมีรสหวานอมฝาดนิดๆ ซึ่งจะมีเฉพาะในบางฤดูเท่านั้น ออกพรรษาแล้วข้าวจะเริ่มตั้งท้อง ฝนจะซาลงไป น้ำในนาใสนิ่ง ปลาหลายชนิดตัวโตมากขึ้น ทานอร่อยขึ้นเพราะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ อีกไม่นานข้าวที่แตกรวงก็จะโตเป็นเมล็ดข้าวอ่อนๆ ย่าจะเลือกเกี่ยวจากบางแปลงมาทำข้าวเม่า โดยเอาเมล็ดข้าวที่เปลือกยังสดๆ สีออกเขียวอมน้ำตาลอ่อน ใส่กระทะใบเขื่องคั่วกับไฟอ่อนๆ เป็นชั่วโมงๆ เปลือกจะร่อนแตกออกมา ย่าก็จะใช้กระด้งฟัดเอาเปลือกนั้นออก รวบรวมข้าวเม่าใส่หม้อ เอาไว้ทำขนมต่างๆ ที่เป็นพื้นก็คือคลุกกับมะพร้าวขูดและน้ำตาลทรายเล็กน้อย โดยย่าจะนำไปถวายพระที่วัดส่วนหนึ่ง ผมสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อจะแอบเอาน้ำตาลแดงที่ชาวบ้านเรียกว่าน้ำอ้อยบิใส่ไปอีก พอญาติโยมเห็นเข้าก็ท้วงว่าเดี๋ยวเบาหวานขึ้น ท่านก็อ้อมแอ้มตอบว่า “มันหอมดี” ช่วงนั้นอากาศเริ่มหนาวเย็น ข้าวแก่เหลืองอร่ามทั่วทุกท้องทุ่ง ชาวบ้านจะ “ลงแขก” ช่วยกันเก็บเกี่ยว ซึ่งก็จะเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะได้ทานของอร่อย เพราะเจ้าของนาในแต่ละนาจะทำอาหารให้สุดฝีมือ ให้คนที่มาช่วยเกี่ยวข้าวออกปากว่าอร่อยไปทุกปี ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนมจีนที่คนอีสานเรียกว่า “ข้าวปุ้น” ทานกับแกงไก่หรือน้ำยาป่าไม่มีกะทิแบบภาคกลาง แต่ที่จะเรียกแขกได้มากก็คือลาบหรืออ่อม ส่วนมากก็เป็นไก่อีกนั่นแหละเพราะหาง่ายที่สุด แต่ถ้าเจ้าของนาจะขวนขวายให้เป็นที่ประทับใจของคนที่มาช่วย ก็อาจจะไปหาหมูหาเนื้อมาทำเมนูพิเศษคือลาบก้อยดิบๆ ที่พวกผู้ชายชอบรับประทาน โดยเชื่อกันว่าเป็นการเพิ่มพลังและทำให้ดูเป็นคนที่เข้มแข็งกล้าหาญ สำหรับเด็กๆ อย่างพวกผมจะชอบขนมต่างๆ ที่ก็ทำเป็นพิเศษให้เป็นที่ประทับใจของคนที่มาช่วยเช่นกัน ที่จำได้เพราะได้ทานอยู่เป็นประจำก็คือขนมเปียกปูนและลอดช่อง โดยเฉพาะลอดช่องของย่าจันทร์นั้นมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ เพราะจะใส่ใบเตยต้มกรองน้ำลงไปกับแป้งก่อนที่จะบีบออกมาเป็นตัวลอดช่อง แถมด้วยกระทิที่ไม่ใสกร่อยเหมือนเจ้าอื่น เพราะย่าจะใช้มะพร้าวที่แก่ๆ และคั้นข้นๆ เท่านั้น ฤดูเกี่ยวข้าวเป็นฤดูแห่งความสุขของเด็กๆ เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะได้เล่นกองฟางและนอนเฝ้าข้าวในบรรยากาศสุดโรแมนติกในกระโจมกองฟางที่ช่วยกันสร้างขึ้นนั้น ที่จริงแล้วเด็กๆ จะมีหน้าที่เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ คือเอาเป็ดและไก่ไปเลี้ยงในนาที่เกี่ยวข้าวแล้ว เพราะจะมีเมล็ดข้าวที่ร่วงๆ ให้กินอย่างมากมาย ส่วนหมาก็จะมีความสุขกับการไล่ล่าหนูนาที่มาแอบกินเมล็ดข้าวนั้นเช่นกัน ส่วนผู้ใหญ่พอเก็บเกี่ยวแล้วก็จะปลูกผักต่างๆ บนแปลงนาที่เพิ่งเกี่ยวข้าวเสร็จไปนั้น โดยใช้ปุ๋ยจากขี้วัวที่เอามาทำลานตากข้าวนั่นเอง ตอนกลางคืนท้องฟ้าหน้าหนาวจะปลอดโปร่งไร้เมฆ พวกเราจะนอนดูดาวกันอย่างเพลิดเพลิน โดยเฉพาะฝนดาวตกหรือที่คนภาคกลางเรียกว่า “ผีพุ่งไต้” ที่มีให้เห็นอยู่ทุกคืน ซึ่งย่าจันทร์จะบอกว่าเทวดาเขากำลังเล่นโยนดาวใส่กัน ยังมีอีกกิจกรรมหนึ่งหลังเกี่ยวข้าวก็คือการวิดปลา เพราะน้ำจะแห้งขอดไปรวมตัวกันขังอยู่เป็นหย่อมๆ ในห้วยบ้าง บ่อน้ำที่ขุดไว้บ้าง จึงมีปลาไปรวมกันให้จับเป็นปริมาณมาก ปลาที่ได้ถ้าตัวใหญ่ก็เอามาทำปลาร้า ส่วนตัวเล็กก็ทำปลาเจ่าหรือปลาจ่อม เก็บเอาไว้รับประทานได้ทั้งปี บางคนก็ปลูกปอที่เป็นพืชทนแล้งใช้น้ำน้อยโตเร็ว แต่ก็มีกลิ่นทารุณน่าดู เพราะจะต้องตัดเอาไปแช่น้ำไว้หลายวัน ก่อนที่จะลอกเป็นเส้นๆ นำมาตากแดดให้แห้ง แล้วม้วนเป็นก้อนขนาดใหญ่น้ำหนักสัก 50 กิโลกรัม ถ้าปลูกสักสิบไร่ก็จะได้ปอแห้งประมาณสิบกว่าก้อน แล้วก็จะมีพ่อค้าจากตัวจังหวัดมารับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท 50 สตางค์ เมื่อหักค่าแรงลอกปอกิโลละ 50 สตางค์แล้ว ก็จะมีเงินเหลือหลายร้อยบาท เพียงพอที่จะนำไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในตลาด รวมถึงเครื่องมือการเกษตรที่จำเป็นต่อไป ชีวิตชาวนาเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด ฤดูกาลแล้วฤดูกาลเล่า จากผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า อันแสดงถึงการคงอยู่และการก้าวไปของสังคมที่ยังจะต้องเป็นอยู่ดั่งนี้ต่อไปตราบนานเท่านาน