ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต ในห้วงขณะที่สังคมแห่งการดำรงชีวิตอยู่ของเรา กำลังเผชิญหน้าอยู่กับอำนาจบ้าคลั่งแห่งเผด็จการของเหล่าผู้ปกครองประเทศอย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก/...มันย่อมคือเหตุจำเป็นที่เราต้องแสวงหาปัจจัยด้านความคิดที่จักเป็นแสงสว่างทางปัญญาเพื่อพัฒนาไปสู่รากเหง้าของการต่อสู้ที่มีทิศทาง ตลอดจนมีค่าความหมายต่อภาวะสำนึกแห่งการรับรู้ที่เท่าทันของผู้คน/...สถานะและบทบาทในความเป็นจริงของเรานั้น..นับเป็นแรงผลักดันอันสำคัญต่อการบรรลุถึงคำตอบที่อยู่เหนือคำหลอกลวงแห่งโชคชะตาใดๆ...เนื่องเพราะ “การโกหกหลอกลวงที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ดังที่ปฏิบัติกันอยู่ ในบรรดารัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้น..มิใช่ความจำเป็นเฉพาะหน้า แบบทหารที่ต้องล่อลวงข้าศึก..ดังที่ได้อ้างถึงกันในบางครั้ง/ หากแต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง ของระบบแห่งเผด็จการเบ็ดเสร็จ/ อันเป็นสิ่งที่จะยังดำรงต่อเนื่องอยู่/...แม้เมื่อไม่จำเป็นต้องมีค่ายกักกันและตำรวจลับแล้วก็ตาม” ปฏิกิริยาทางความคิดเบื้องต้น...ล้วนเกิดจากนัยสำนึกที่ได้รับพลังแห่งแรงบันดาลใจมาจาก..หนังสือรวมความเรียง22บท.ในนาม “ความจำเป็นยิ่งชีวิตของการต่อต้านเผด็จการ” โดย “จอร์จ ออร์เวลล์” /นักเขียนคนสำคัญของโลก..ชาวอังกฤษ..ที่มีอายุระหว่างปีค.ศ.1903-1950/ ผู้เขียนนวนิยายอมตะที่ทรงพลังต่อจิตวิญญาณแห่งการใคร่ครวญของโลกที่เรารู้จักกันดี “แอนนิมอล ฟาร์ม” และ “1984”/...นวนิยายซึ่งเนื้อหาสาระต่างได้รับการยกย่องว่า ...มีความหลากหลาย และสามารถเปิดเปลือยสะท้อนความหลักแหลมและแน่วแน่ในสำนึกทางสังคม ตั้งแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณค่าของหนังสือ/ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและหน้าที่แห่งปัญญาชน/...โดยมิติส่วนตัว..ออร์เวลล์..ได้มั่นคงต่อการต่อต้านเผด็จการ และชัดเจนในการวิจารณ์ปัญหาสังคม ด้วยสายตาที่เที่ยงธรรมไม่ลำเอียง และในขณะเดียวกันก็ยังมีพื้นที่ให้กับความรื่นรมย์ของชีวิตเช่นการดื่มชา /...ความคิดเห็นของเขาไม่เคยตกยุค และเป็นที่สนใจในยามที่หลายสังคมในโลกยังไม่หลุดพ้นจากการปกครองโดยเผด็จการ บริบทโดยองค์รวมของหนังสือเล่มนี้มีเป้าหมายในเชิงทรรศนะที่ “ออร์เวลล์” ได้เน้นย้ำในลักษณะที่ว่า...ไม่ว่าเผด็จการจะปรากฏตัวออกมาในรูปลักษณ์ใดก็ตาม...แต่ความมุ่งหมายในการกระทำในทุกส่วนของความเป็นเผด็จการนั้น สมควรจะต้องถูกต่อต้านอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องตั้งประเด็นคำถามถึงมันเสมอ/แท้จริงแล้ว...โดยส่วนตัวของ “ออร์เวลล์” เขาก็ไม่ได้ยึดมั่นที่จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มรูป มีอยู่หลายครั้งที่เขาแสดงออกมาให้เห็นถึงภาวะของความขัดแย้งบางประการ...แต่ถึงกระนั้นการแสดงออกที่ “ออร์เวลล์” ได้สื่อสารออกมาทั้งการกระทำและความคิดส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่พุ่งเป้าไปที่การโจมตีและเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งต่อลัทธิความเป็นเผด็จการอย่างมุ่งมั่น..ผ่านการแสดงถึงแก่นรากของยุคสมัยผ่านสังคมหนึ่งที่ต้อง..เกี่ยวข้องกับสงครามเย็น และเผชิญหน้ากับสงครามโลกครั้งที่ 2/...ซึ่งตกอยู่ในท่ามกลางที่ทั้งรัฐเผด็จการและรัฐเสรีประชาธิปไตยต่างพากันควบคุมสื่ออย่างเข้มงวด ผ่านอำนาจอันเบ็ดเสร็จและแข็งกร้าวของการชี้นำเพื่อบงการสื่อแขนงต่างๆ ทั้งในวงการหนังสือพิมพ์ /วรรณกรรม/วิทยุ/โทรทัศน์ฯลฯ/ด้วยแนวทางที่ยึดตามแบบระบบเผด็จการ/..ทั้งนี้ “ออร์เวลล์” ได้แสดงเจตจำนงแห่งการเขียนของเขาอย่างสัตย์ซื่อและแม่นตรงว่า..สาระเนื้อหาแห่งการเขียนของเขานั้นไม่ได้มุ่งเน้นการต่อต้านเผด็จการไปที่รัฐเผด็จการ..หากแต่พุ่งเป้าการโจมตีไปยัง.. “หัวใจแห่งการเป็นเผด็จการเป็นสำคัญ”/และที่มันกระทบต่อการรับรู้ต่อการวิพากษ์อย่างยิ่งก็คือความมุ่งหมายอย่างชัดแจ้งของ “ออร์เวลล์”/ในการที่เขาไม่ละเว้นใดๆต่อการโจมตี “เผด็จการในคราบของการปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย”/ดังที่หลายๆประเทศชอบอ้างตัวอยู่ในความแปลกปลอมนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศชาติบ้านเมืองอันสับสนวกวนของเรา ณ ห้วงขณะนี้! เสรีภาพทางความคิดและเสรีภาพของสื่อมักโดนโจมตีด้วยข้อโต้แย้งที่ไม่คุ้มกับการใส่ใจ ใครเคยมีประสบการณ์ด้านการปาฐกถาและการโต้วาทีย่อมรู้ดีจนขึ้นใจ...ในที่นี้ผมไม่ได้พยายามโต้แย้งข้ออ้างที่เราคุ้นกันดีว่าเสรีภาพเป็นเพียงมายา หรือโต้แย้งข้ออ้างว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้นมีเสรีภาพมากกว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่ผมพยายามโต้ประพจน์-คำกล่าวที่พอจะฟังขึ้นกว่าและอันตรายกว่ามาก ซึ่งอ้างว่าเสรีภาพไม่ใช่เรื่องน่าปรารถนา และความซื่อตรงต่อความคิดของตนถือเป็นความเห็นแก่ตัวแบบไม่แยแสสังคมประเภทหนึ่ง แม้แง่มุมด้านอื่นของปัญหานี้มักจะเห็นได้ง่าย แต่โดยลึกๆแล้วประเด็นการโต้แย้งเรื่องเสรีภาพในการพูดหรือเสรีภาพของสื่อนั้นคือประเด็นที่ว่า การโกหกเป็นเรื่องพึงปรารถนาหรือไม่ /ประเด็นที่เป็นปัญหาจริงๆคือสิทธิในการรายงานเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างตรงต่อความจริง หรืออย่างตรงต่อความจริงที่สุดตามความไม่รู้ ตามอคติ หรือตามการหลอกตนเองที่ผู้สังเกตการณ์ทุกคนย่อมมีอยู่อย่างไม่อาจเลี่ยงได้ /...การกล่าวเช่นนี้จึงอาจเหมือนกับผมกล่าวว่า “รายงาน” อย่างตรงไปตรงมาเป็นวรรณกรรมสาขาเดียวที่มีความสำคัญ แต่ต่อไปผมจะพยายามแสดงว่าประเด็นเดียวกันนี้ เกิดขึ้นในรูปแบบที่แฝงเร้นแนบเนียนไม่มากก็น้อยในวรรณกรรมทุกระดับและอาจจะในศิลปะทุกสาขา / ในระหว่างนี้ เราจำเป็นต้องปลดเปลื้องเรื่องนอกประเด็นที่มักมาบดบังกลบเกลื่อนข้อโต้แย้งนี้ออกไปก่อน” คำอธิบายของ “ออร์เวลล์” ตรงส่วนนี้..อธิบายให้เห็นถึงแก่นแท้แห่งความเป็นเสรีภาพที่เราทุกคนสมควรจะเข้าใจถึงรายละเอียดในเชิงลึก..โดยเฉพาะในส่วนขยายสำคัญที่ว่า..ศัตรูของเสรีภาพทางความคิดมักพยายามชูประเด็นแก้ตัวว่า เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างวินัยกับปัจเจกนิยม /ประเด็นความจริงหรือความเท็จโดนปัดไปไว้ไกลสุด..เท่าที่จะทำได้ให้พ้นสังเกต /แต่ไม่ว่าประเด็นที่เน้นจะแตกต่างกันไปอย่างไร นักเขียนที่ไม่ยอมขายความคิดเห็นก็ยังย่อมโดนตราหน้าอยู่เสมอว่าเป็นอัตนิยม/..ที่ยึดมั่นตนเองเป็นสำคัญ..คือจะโดนหาว่าอยากโอ้อวดบุคลิกของตน/หรือหาว่าฝืนกระแสประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเพื่อพยายามยึดเหนี่ยวอภิสิทธิ์ที่ไม่ควรได้รับ/..ผู้นับถือนิกายคาทอลิกและผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์มีอะไรเหมือนกัน/ตรงที่ต่างมีสมมติฐานว่า..ฝ่ายตรงข้ามที่เป็นปรปักษ์นั้นไม่อาจมีทั้งความซื่อตรงและมีปัญญาได้พร้อมกัน/ต่างก็อ้างเป็นนัยว่า.. “ความจริง” เปิดเผยออกมาแล้ว และพวกนอกรีตนั้น ...หากมิใช่คนโง่เขลา..ก็ย่อมตระหนักถึง “ความจริง” อยู่แล้วในใจ...แต่ยังฝืนต้านเพราะมีเหตุจูงใจที่เห็นแก่ตัว.. ในวรรณกรรมคอมมิวนิสต์การโจมตีเสรีภาพทางความคิดมักจะโดนกลบเกลื่อนด้วยโวหารเรื่อง.. “ปัจเจกชนนิยมแบบกระฎุมพี” / “มายาคติเสรีนิยมศตวรรษที่ 19 ฯลฯ/ตามหนุนด้วยคำประณาม เช่นว่าเป็น “พวกโรแมนติก” หรือ “พวกใช้อารมณ์อ่อนไหว”...ซึ่งเถียงได้ยาก/ เพราะไม่มีคำนิยามที่เห็นพ้องต้องกัน/วิธีแบบนี้ชักจูงการถกเถียงโต้แย้งให้เบี่ยงเบนไปจากประเด็นปัญหาที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการกล่าวถึงเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ/ที่เป็นเหมือนตัวละครตัวร้ายของโลก/ “ออร์เวลล์” จึงให้ข้อวิเคราะห์และเพ่งมองไปในมิติที่เปิดเปลือยถึงเนื้อแท้อันสำคัญ...แน่นอนว่ามันต้องก้าวข้ามผ่านภาวะของการใคร่ครวญเรื่องของเสรีภาพและแง่มุมของความมีความเป็นทั้งหมด...ไปสู่สถานการณ์จริงของบทบาทแห่งเผด็จการที่สร้างผลกระทบในเชิงลบต่อประชาชนและการดำรงอยู่ของพวกเขา...ทั้งหมดนี้อาจถือเป็นผลสรุปแห่งความเข้าใจอันถ่องแท้ต่อนัยเปรียบเทียบ..ในความจำเป็นของการต่อต้านเผด็จการที่ต้องมีการตระหนักรู้และเข้าใจในเนื้อแท้ร่วมกันอย่างลึกซึ้ง..โดยเฉพาะในแง่มุมของประวัติศาสตร์ “การรู้ประวัติศาสตร์อย่างถูกต้องย่อมมีคุณค่าเป็นธรรมดา/..แต่ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จมองว่า ประวัติศาสตร์คือเรื่องที่ต้องผลิตสร้างขึ้นมากกว่าจะเป็นเพียงเรื่องที่เราศึกษาว่า เคยเกิดอะไรขึ้น/รัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จนั้น ในทางปฏิบัติก็คือรัฐเทวาธิปไตย และหากชนชั้นปกครองต้องการรักษาตำแหน่งฐานไว้ก็ย่อมต้องทำให้คนรู้สึกว่า ชนชั้นปกครองไม่มีวันผิดพลาด/แต่เมื่อในทางปฏิบัติคนเราย่อมพลาดได้เสมอ/” เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกอะไรเลยที่บรรดานักปกครองทั้งหลาย/ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือ อยู่ในยุคใดสมัยใดก็ตามจึงมักจะ..จำเป็นต้องปรับเหตุการณ์ในอดีตเสียใหม่..อยู่ซ้ำๆ/ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้ประจักษ์ว่า..ความผิดพลาดต่างมิได้เกิดขึ้น หรือแสดงว่าชัยชนะต่างเกิดขึ้นจริง/ แต่ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญในทุกๆครั้ง/ก็ย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่เกี่ยวข้อง และมีการเปิดเผยตัวบุคคลที่โดดเด่นในประวัติศาสตร์/เรื่องแบบนี้ย่อมเกิดขึ้นทุกหนแห่ง/แต่จะเห็นชัดว่า.มักนำไปสู่การตบตาบิดเบือนกันตรงๆในสังคมต่างๆ/ที่ยอมให้มีความคิดเห็นได้เพียงอย่างเดียวในแต่ละช่วงเวลา ที่จริงแล้ว ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอดีตอยู่เสมอ/ในระยะยาวอาจเรียกร้องให้คนเลิกเชื่อความจริงในเชิงวัตถุวิสัย/..มิตรของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ...มักจะแย้งว่า...ในเมื่อเราไม่อาจเข้าถึงความจริงอันเที่ยงแท้สมบูรณืได้/..การโกหกคำโตจึงไม่ได้เลวร้าย