“Jitta”ย้ำสัจธรรมตลาดหุ้น ระยะสั้นผันผวน ระยะยาวเติบโต พร้อมรวบรวมสถิติตลาดหุ้นไทยหลัง 9 โรคระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 โดย 1 เดือนหลังเกิดทุกโรคระบาด ตลาดหุ้นไทยบวกเฉลี่ยร้อยละ 1.92 และ 1 ปีหลังเกิดทุกโรคระบาด บวกมากถึงร้อยละ 19.80 ในขณะที่โควิด-19 เกือบ 3 เดือน ตลาดหุ้นไทยติดลบไปแล้วร้อยละ 20.54 โดยหมวดบริการเฉพาะกิจ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาสร้างผลตอบแทนภายใน 1 ปีหลังทุกโรคระบาดได้เฉลี่ยสูงที่สุด Jitta เปิดเผยข้อมูลสถิติการฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยหลังโรคระบาดตั้งแต่โรคซาร์สในปี 2546 จนถึงไข้ซิกาในปี 2559 เห็นได้ว่า 9 โรคระบาดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 โดยรวมแล้วไม่ได้ส่งผลกระทบตลาดหุ้นไทยมากนัก โดย 1 เดือนหลังจากเกิดโรคระบาด Jitta พบว่า ตลาดหุ้นไทยบวกขึ้นมาเฉลี่ยร้อยละ 1.92 ในระยะ 3 เดือน บวกขึ้นมาเฉลี่ยร้อยละ 8.49 และ 1 ปีหลังเกิดโรคระบาด ตลาดบวกขึ้นมาถึงร้อยละ 19.80 ซึ่งดีกว่าการเติบโตของตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ย เพราะผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นของตลาดหุ้นไทยใน 43 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2518 จนถึงปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 11.87 เท่านั้น ในขณะที่วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ หลังครบรอบ 1 เดือนตลาดติดลบร้อยละ 0.22 สำหรับหมวดธุรกิจที่ภูมิต้านทานดี ฟื้นตัวกลับขึ้นมาสร้างผลตอบแทนภายใน 1 ปีหลังทุกโรคระบาดเฉลี่ยสูงที่สุด สูงถึงร้อยละ 50.13 คือหมวดบริการเฉพาะกิจ ซึ่งครอบคลุมบริการเฉพาะด้านต่างๆที่ไม่ถูกจัดอยู่ในหมวดธุรกิจไหนเป็นพิเศษเช่น บริการด้านการศึกษา ที่ปรึกษาทางธุรกิจ และผู้ให้บริการบำบัดของเสีย ส่วนหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์เป็นหมวดที่ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดที่อัตราร้อยละ 1.21 Jitta ได้ตั้งข้อสังเกตว่า หมวดธุรกิจที่กำลังได้รับการกล่าวถึงในขณะนี้ อย่างหมวดธุรกิจการแพทย์ มีผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีหลังทุกโรคระบาดร้อยละ 32.28 ขนส่งและโลจิสติกส์ร้อยละ 31.44 พลังงานและสาธารณูปโภคร้อยละ 32.01 ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ร้อยละ 30.35 และเงินทุนและหลักทรัพย์ร้อยละ 21.89 นั้น เป็นกลุ่มที่ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีหลังทุกโรคระบาดเพิ่มขึ้นสูงอันดับต้นๆ และสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยหลังทุกโรคระบาดของ SET ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 19.80ส่วนหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ ผลตอบแทนเฉลี่ย 1 ปีหลังโรคระบาดอยู่ที่ร้อยละ 8.5 แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ SET ก็ยังเป็นบวกได้ ข้อมูลจาก Jitta ระบุอีกว่า “เรายังเห็นรูปแบบในระยะสั้น 1 เดือนหลังโรคระบาด สัดส่วนหุ้นที่กำไรกับขาดทุนจะใกล้เคียงกันเกือบ 50-50 แต่ยิ่งเวลาผ่านไปนานขึ้น จำนวนหุ้นที่ขาดทุนก็ลดลง กลายเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดทำกำไร ดึงให้ผลตอบแทนของตลาดเป็นบวกในระยะยาวนั่นเอง” โดย Jitta ได้ให้มุมมองเรื่องการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยว่า การเคลื่อนไหวหรือความผันผวนที่เกิดขึ้นนี้ เป็นไปตามสัจธรรมของตลาดหุ้น เป็นความจริงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีวันตาย ไม่ว่าจะโรคซาร์ส ไข้หวัดนก หรืออีโบลา ตลาดหุ้นระยะสั้นมักจะผันผวนมากกว่าในระยะยาวเสมอ เพียงแค่นักลงทุนเข้าใจ และยอมรับธรรมชาติของตลาดหุ้นตรงนี้ได้ ก็จะสามารถลงทุนได้อย่างมีความสุข สบายใจยิ่งขึ้น ที่สำคัญ นักลงทุนจะตัดสินใจได้อย่างมั่นใจว่า จะจัดการกับเงินอย่างไรเมื่อตลาดหุ้นตก Jitta ยังได้ย้ำว่า “ผลตอบแทนที่แสดงให้ดูมาจากข้อมูลในอดีตที่ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้ เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ไม่เหมือนกับการแพร่ระบาดครั้งก่อนๆ แม้อัตราการเสียชีวิตจะต่ำกว่าโรคซาร์สและเมอร์ส แต่เชื้อไวรัสแพร่ระบาดได้ง่ายกว่า คนติดเชื้อเยอะกว่า ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง อาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าในอดีต วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือความผันผวนระยะสั้นแบบนี้คือ โฟกัสที่การลงทุนระยะยาวในหุ้นดีราคาเหมาะสม กระจายความเสี่ยงในพอร์ตให้ดี และรักษาวินัยการลงทุน ไม่ตื่นตระหนกไปตามอารมณ์ขึ้นลงของตลาด” นักลงทุนสามารถดูรายชื่อ “10 หุ้นดีราคาเหมาะสม” ที่ฟื้นตัวกลับมาทำกำไรหลังทุกโรคระบาดภายในเวลา 1 ปี ที่ http://bit.ly/2Q8xhd และดูการจัดอันดับ “หุ้นดีราคาถูก น่าลงทุนระยะยาว” หรือ Jitta Ranking ได้ที่ www.jitta.com