ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ราคาน้ำมันลดต่ำลงมาแตะ 50 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่สงครามราคาน้ำมันระหว่างโอเปกที่นำโดยซาอุดิอารเบียกับรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมันหล่นพรวดลงมาแตะ 33 ดอลลาร์/บาเรล ในสัปดาห์นี้ และมีทีท่าว่าจะลดลงไปอีก ซึ่งวงการค้าน้ำมันคาดว่าน่าจะลงมาแตะ 20 ดอลลาร์/บาเรล คำถามคือ ทำไมถึงเกิดสงครามราคาน้ำมัน ซึ่งคำตอบเบื้องต้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เนื่องจากการล้มเหลวในการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ผลิตน้ำมันที่อยู่ในโอเปก นำโดยซาอุดิอารเบีย กับผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกที่นำโดยรัสเซีย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวคือ การลดการผลิตน้ำมันดิบเพื่อพยุงราคาน้ำมันในตลาดโลก เนื่องจากดีมานด์น้ำมันลดลง โดยเกิดจากผลกระทบจากสงครามการค้า จีน-สหรัฐฯ และต่อมาก็คือการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นซาอุดิอารเบียโดยอารัมโกจึงประกาศลดราคาส่งออกน้ำมันดิบลง คำถามต่อมาคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า คำตอบคือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำมันจากหินน้ำมันในสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนแปรผัน (Variable cost) ในการผลิตประมาณ 40 ดอลลาร์/บาเรล ทั้งนี้ซาอุดิอารเบียประกาศว่าจะเพิ่มการผลิตจาก 9.7 ล้านบาเรลต่อวันเป็น 10 ล้านบาเรล/วัน และจะเพิ่มอีกเป็น 12 ล้านบาเรล/วัน เพื่อรักษาสัดส่วนตลาด ส่วนรัสเซียก็ประกาศว่าจะปล่อยเสรีให้บริษัทผลิตน้ำมันของตนปั๊มน้ำมันขึ้นมาเท่าที่ต้องการ แค่ข่าวก็ทำให้ราคาน้ำมันตกพรวดแล้ว พอถึงเวลาน้ำมันดับล้นตลาดจริงๆ ราคาก็ฟุบอย่างมาก ด้วยราคาน้ำมันดิบที่ลดลง สำหรับซาอุดิอารเบียจะมีผลต่อรายได้เข้ารัฐ และกระทบต่องบประมาณในการลงทุนหรือจัดสวัสดิการให้ประชาชน ตลอดจนการซื้ออาวุธ และส่งเสริมการทำสงครามนอกประเทศ อีกด้านหนึ่งรายได้จากการประกอบพิธีฮัจย์ในเดือนสิงหาคมปีนี้จะลดลงเพราะการระบาดของโควิด-19 ด้วย แม้ซาอุฯจะมีหนี้สาธารณะไม่มาก แต่จะทำให้ทุนสำรองต้องลดลงอันนี้รวมทั้ง Sovereign Wealth Fund (กองทุนเก็งกำไร) ทำให้ต้องตัดงบประมาณรายจ่าย ในช่วงที่มีการแย่งชิงอำนาจจึงค่อนข้างอันตราย สำหรับรัสเซียสงครามราคาน้ำมันจะมีผลทำให้ค่าเงินรูเบิลลดลง เพราะรัสเซียมีทุนสำรองไม่มากนัก นอกจากนี้ยังทุ่มเทใช้จ่ายในงบประมาณเกี่ยวกับการผลิตอาวุธทันสมัย อันมีผลมาจากความตึงเครียดในการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯตามสมรภูมิต่างๆ แต่รัสเซียก็คงพออยู่ได้ ในสถานการณ์แบบนี้อย่างน้อยก็อีก 3-6 เดือน อย่างไรก็ตามสถานการณ์อย่างนี้ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าคงไม่นาน ทั้งสองฝ่ายจะต้องกลับมาเจรจาเพื่อลดการผลิตกันอีกในไม่ช้า อาจเป็น 3-6 เดือนนี้ แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบางประเทศ อาจจะร้ายแรงกว่า เช่น ผลกระทบต่ออิหร่านที่ถูกแซงชั่น และต้องขายน้ำมันในราคาถูกให้กับจีนอยู่แล้ว หรือเวเนซูเอลลาที่ฐานะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ เมื่อราคาน้ำมันตกต่ำ รายได้ก็พลอยน้อยไปด้วย ซ้ำเติมความไม่สงบภายในประเทศ สำหรับผลกระทบที่จะเกิดต่อโลกโดยส่วนรวมนั้น ในด้านหนึ่งดูเหมือนเป็นข่าวดีที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างมาก เพราะมีซัพพลายเพิ่ม ในขณะที่ดีมานด์ลดลง ต้นทุนการผลิตของสินค้าโดยทั่วไปควรจะลดลง เพราะน้ำมันมีสัดส่วนในต้นทุนประมาณ 20% -30% แต่ก็ไม่แน่ว่าผู้ผลิตจะยอมลดราคาลงเท่าใดต่อต้นทุนที่ลดลง ประกอบกับความต้องการสินค้าและบริการในช่วงนี้ลดลงเพราะการระบาดของโควิด-19 ถึงลดราคา ความต้องการสินค้าและบริการอาจเพิ่มไม่มาก นอกจากสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เป็นต้น แต่สินค้าที่จะใช้ทดแทนการใช้น้ำมันดิบ เช่น พลังงานทดแทนยางพารา น้ำมันปาล์ม จะมีผลกระทบมากทำให้การดำเนินการเรื่องพลังงานทดแทนเพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนต้องชะลอตัวลง แม้ว่าซาอุดิอารเบียและรัสเซีย ในนามกลุ่ม Opec+ จะหันกลับมาเจรจากันใหม่ ราคาน้ำมันก็คงจะลงอีกยาวอย่างน้อยก็เป็นปี กว่าจะขยับขึ้นเป็นนัยสำคัญ ตลาดหุ้นก็คงจะแกว่งตัวลง โดยเฉพาะหุ้นของอุตสาหกรรมน้ำมัน แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกหดตัวก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมแนวโน้มของตลาดหุ้น สำหรับประเทศไทย การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอันเป็นผลมาจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แม้จะเริ่มตกลงกันได้บางส่วน แต่ผลของมันซึมยาวและกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ต่อมาก็โดนซ้ำเติมการแพร่โรคระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากการกักตุนสินค้าจำเป็น หากต้องมีการควบคุมโรดระบาดอย่างเข้มงวดจากรัฐบาล อนึ่งนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลหลายประการ ที่ทำให้เกิดการรวยกระจุกจนกระจาย ทำให้การบริโภคภายในประเทศไม่กระเตื้อง แม้จะมีการใช้วิธีการแจกเงิน ภาวะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของรายได้ กับข้อจำกัดในการสร้างหนี้สาธารณะ ตลอดจนการพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงถึง 70% รวมกับการพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยว เมื่อเกิดเศรษฐกิจโลกหดตัว และเกิดโรคระบาดก็ทำให้รายได้เหล่านี้หดหายไป ทั้งๆที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะมีส่วนในการกู้สถานการณ์ได้บ้างด้วยมาตรการที่จะช่วยลดค่าเงินบาท โดยเฉพาะการเก็งกำไรของทุนต่างชาติ แต่ก็มิได้ทำอะไร นอกจากภาคภูมิใจว่าค่าเงินบาทแข็ง ตอนนี้ก็สายไปเสียแล้ว แต่ที่สำคัญคือ ความเชื่อมั่นในรัฐบาลนี้ได้หดหายไปอย่างมาก จากการดำเนินการต่างๆเพื่อรับมือกับโควิด-19 เช่น การกักกัน ตรวจสอบผู้เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงที่มีการปล่อยปละละเลย และปล่อยให้มีการหลบหนีไปบางส่วน การจัดการเกี่ยวกับเรื่องหน้ากากอนามัย บวกกับมีข่าวว่าคนใกล้ชิดของรัฐมนตรีท่านหนึ่ง มีส่วนพัวพันเกี่ยวกับการกักตุนหน้ากากอนามัยซึ่งผิดกฎหมาย หรือการบริหารจัดการของกระทรวงพาณิชย์ที่ทำให้หน้ากากอนามัยหายไปจากตลาด โดยไม่มีคำชี้แจงที่สมเหตุสมผล ตลอดจนการดำเนินนโยบายแจกเงินในยามนี้แทนใช้เงินไปเพื่อช่วยเหลือโดยตรงในการป้องกันโรคระบาด ที่น่าเป็นห่วงคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ต้องทำงานหนักมาก และขาดแคลนอุปกรณ์ก็ยังไม่มีการดูแลเพียงพอมันก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมันในรัฐบาล แม้จะเปลี่ยนใจไม่แจกเงินแล้วก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งก็คือเทศกาลสงกรานต์ที่ประชาชนจำนวนมากจะเดินทางกลับบ้าน เหมือนตรุษจีนที่เกิดโรดระบาดจากอู่ฮั่น และรัฐบาลจีน สั่งห้ามเดินทางเพราะกลัวการแพร่กระจายโรคระบาด แต่ของไทยยังคงรีรออยู่ คงกลัวเสียคะแนนนิยมถ้าสั่งระงับการเดินทาง แต่หากมันเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ รัฐบาลจะรับผิดชอบได้อย่างไร เมื่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลลดลง อะไรๆก็ยากจะดำเนินการ ซึ่งเหตุการณ์ที่น้ำมันราคาลดลงทั่วโลก รัฐบาลจะบริหารอย่างไรที่จะให้ปตท.ได้ลดราคาน้ำมันในสัดส่วนที่เท่ากับการลดราคาตลาดโลก ถ้าจะมีการเพิ่มเงินสะสมกองทุนน้ำมันก็ต้องชัดเจนในการเผยแพร่ข้อมูล ประการสุดท้ายราคายางพารา และปาล์มน้ำมัน จะต้องลดต่ำแน่จะมีมาตรการอย่างไร เพราะชาวสวนยางและปาล์มน้ำมันต้องร้องเรียนและอาจมีการก่อม็อบได้หากแก้ไม่ตรงจุด เชื่อว่าลุงกำนันก็คงช่วยไม่ได้ นี่ขนาดภัยแล้งยังไม่ออกฤทธิ์นะ