เมื่อวันพุธที่ 11 มีนาคม 2563 เวลา 10.00 น. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมกับรับฟังการบรรยายสรุปการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาฯ และสถานการณ์น้ำของลุ่มน้ำโจนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงาน กปร. กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยว ได้สนองพระราชดำริในการพัฒนาพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาตั้งแต่ 2522 ในลักษณะพิพิธภัฑณ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ซึ่งได้รวบรวมสรรพวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้ง ดิน น้ำ ป่าไม้ และการประกอบอาชีพ 40 ปี ของการดำเนินงานทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ที่เคยเป็นดินทราย กลับมีความสมบูรณ์สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิดรวมถึงให้ผลผลิตที่ดีขึ้น โดยด้านการศึกษาวิจัย ทดลอง ได้มีการศึกษาวิจัย ทดลอง จำนวน 132 เรื่อง นำไปขยายผลสู่เกษตรกรได้ถึง 52 เรื่อง นอกจากนี้ยังได้นำมาจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมอาชีพที่โดดเด่นได้ถึง 13 หลักสูตร อาทิ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจครบวงจร เกษตรทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงไก่ไข่เขาหินซ้อน การปลูกและแปรรูปสมุนไพรว่านสาวหลง ฯลฯ สำหรับด้านการขยายผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ได้นำผลสำเร็จไปขยายผลสู่เกษตรกรพื้นที่รอบศูนย์ฯ จำนวน 43 หมู่บ้าน 12,403 ครัวเรือน โดยเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 60,000 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งได้สร้างความเป็นอยู่และความมั่นคงให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในแต่ละปีมีผู้เข้ารับการอบรมและศึกษาดูงาน รวมทั้งขอรับบริการด้านต่างๆ เช่น ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การทำอาหารแปรรูป การถนอมอาหาร โดยระหว่างเดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 136,414 คน และคณะศึกษาดูงานต่างชาติ จำนวน 783 คน สำหรับการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำโจนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริให้พิจารณาเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งน้ำบริเวณลุ่มน้ำโจน โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการเป็น 2 ส่วน คืองานพัฒนาแหล่งน้ำในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ (อ่างเก็บน้ำ) จำนวน 10 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาฯ จำนวน 5 แห่ง ความจุ รวม 369,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 600 ไร่ และตั้งอยู่ภายนอกพื้นที่ศูนย์ศึกษา จำนวน 5 แห่ง มีความจุ 5,413,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทาน 5,730 ไร่ และงานพัฒนาแหล่งน้ำบริเวณลำห้วยน้ำโจนและลำน้ำสาขา (อาคารบังคับน้ำ) จำนวน 20 แห่ง มีพื้นที่รับประโยชน์ 6,475 ไร่ โดยมีการบริหารจัดการน้ำภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ในลักษณะอ่างใหญ่เติมอ่างเล็ก หรืออ่างพวง โดยการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่อยู่ระดับสูงกว่า และมีปริมาณน้ำมากเติมในอ่างที่อยู่ต่ำลงมา ด้วยระบบส่งน้ำ เช่น คลองส่งน้ำ หรือท่อส่งน้ำ ต่อมาองคมนตรีและคณะ เดินทางไปเยี่ยมเยียนเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนที่ 2 ประกอบด้วย แปลงเกษตรของนางวิเชียร ปราบพาล และนายประสิทธิ์ ศรีสงคราม ที่นำองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาอบรมจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ มาประยุกต์ใช้ในการประอาชีพ โดยเฉพาะการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยคอก การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ส่งผลให้สามารถเพาะปลูกพืชผักได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะนางวิเชียร มีผลผลิตหมุนเวียนส่งจำหน่ายได้เฉลี่ยวันละ 200-500 บาท จากนั้น คณะ เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานภายในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน ฯ โดยรถพ่วง อาทิ แปลงทฤษฎีใหม่ การส่งเสริมอาชีพ ได้แก่การจักสาน และการตีเหล็กบริเวณหน่วยพัฒนาชุมชน และกิจกรรมต่างๆ ทั้ง การปลูกหญ้าแฝก ปศุสัตว์ ประมง โครงการส่วนพระองค์ การพัฒนาแหล่งน้ำ ที่ส่งผลให้การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาคุณภาพของประชาชนบังเกิดความมั่นคงและมีความยั่งยืนตลอดไป