ช่วงเวลานี้ทุกอุตสาหกรรมต่างร่วมแรงร่วมใจกันสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพื่อฟื้นฟูสถานการณ์ที่เลวร้ายให้กลับมาดีในเร็ววัน โดยเฉพาะทางภาคท่องเที่ยวที่ใช้โอกาสนี้ไปต่อยอดให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการสร้างรายได้เพิ่ม โดยทาง สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ ได้นำผู้บริหารในองค์กรบริษัทเอกชนต่างๆ ไปสัมผัสวิถีชุมชนที่ยังคงเสน่ห์แบบดั้งเดิม ที่ชุมชนตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี กลางดงมะพร้าวแหล่งสุดท้ายแห่งภาคตะวันออก ภายใต้แคมเปญประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ พัฒนาพื้นที่ยกระดับการจัดงาน โดย นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เล่าถึงความตั้งใจในการนำคณะผู้บริหารระดับสูงขององค์กรบริษัทเอกชนมาจัดกิจกรรมและสัมมนาเยี่ยมชมสัมผัสประสบการณ์ตรงในการจัดกิจกรรมไมซ์ของชุมชนตะเคียนเตี้ยในครั้งนี้ ว่า ชุมชนตะเคียนเตี้ยได้รับคัดเลือกจากทีเส็บให้เป็นหนึ่งในโครงการ เส้นทางสายไมซ์ หรือ Thailand 7 MICE Magnificent Themes ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของทีเส็บเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งมีการมุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่เพื่อเพิ่มและยกระดับสถานที่จัดงาน รวมถึงเพิ่มกิจกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการจัดงานไมซ์ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางสายไมซ์มีครอบคลุม 14 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบไปด้วย 5 เมืองไมซ์ซิตี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ตและขอนแก่น และเมืองรองเชื่อมโยง 9 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร อุดรธานี เชียงราย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สงขลา และนครศรีธรรมราช โดยร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา รวมถึงชุมชนในพื้นที่ บูรณาการพัฒนาธุรกิจไมซ์ในจังหวัดดังกล่าวร่วมกัน สร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของธุรกิจไมซ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ และกระจายรายได้สู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ วันดี ประกอบธรรม “ทีเส็บมีโอกาสทำงานร่วมกับชุมชนตะเคียนเตี้ยมาตั้งแต่ปี 2560 จึงทำให้เห็นศักยภาพของชุมชนที่เข้มแข็งในการรองรับกลุ่มบริษัทองค์กรและหน่วยงานที่ไปเยี่ยมชมดูงาน และทำกิจกรรมไมซ์ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดงานอย่างยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้เข้าไปปรับให้มีมาตรฐานสามารถรองรับการจัดงานประชุม รวมทั้งเพิ่มทักษะในเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะการให้บริการ และกิจกรรมของชุมชนเหมาะสำหรับการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กรเป็นอย่างมาก” นายจิรุตถ์ กล่าว จัดกิจกรรมเวิร์คช้อปเพิ่มความรู้ ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างยั่งยืน ทางทีเส็บได้เชิญบาริสต้ามืออาชีพมาจัดกิจกรรมเวิร์คช้อป ให้ทั้งความรู้แก่ผู้แทนชุมชนและผู้นำองค์กรธุรกิจที่มาร่วมงาน พร้อมทั้งร่วมเปิดร้าน โคโค่ คอฟฟี่ บาย บ้านตะเคียนเตี้ย ต่อยอดแบรนด์เพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์กาแฟของชุมชนอย่างเป็นทางการ โดย นางวันดี ประกอบธรรม ประธานชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตะเคียนเตี้ย กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาทางชุมชนมีกาแฟร้อนใส่กะทิ แต่กว่าจะได้กินต้องสั่งล่วงหน้า 3 วัน ดังนั้นเมื่อทางทีเส็บได้มาเปิดร้านกาแฟให้กับชุมชนและยังสอนเทคนิกการชงกาแฟให้ด้วย ก็จะทำให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาทำกิจกรรมไมซ์หรือท่องเที่ยวในชุมชนตะเคียนเตี้ยสามารถดื่มกาแฟได้ทุกวันเสาร์และอาทิตย์ สำหรับ มะพร้าว ซึ่งเคยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของคนภาคตะวันออก ปัจจุบันคงเหลือเพียงชุมชนตะเคียนเตี้ยเท่านั้นเป็นสถานที่ปลูกมะพร้าวของภาคตะวันออก ดังนั้นมะพร้าวจึงกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชน โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนรักมะพร้าวตะเคียนเตี้ยทำหน้าที่อนุรักษ์มะพร้าวให้อยู่คู่กับชุมชน ผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีมะพร้าวเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกันไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตที่ยึดโยงกับมะพร้าว อาหารการกิน ไปจนถึงการดำเนินชีวิตของชุมชน วรกฤต สกุลเลี่ยว เพราะฉะนั้น ร้านโคโค่ คอฟฟี่ บาย บ้านตะเคียนเตี้ย จึงมีซิกเนเจอร์ คือ กาแฟเย็นน้ำมะพร้าว โดยนายวรกฤต สกุลเลี่ยว หนุ่มบาริสต้ารูปหล่อดีกรี Cleo bachelor 2018 และ GQ MAN 2019 เจ้าของธุรกิจด้านอาหารมากมาย รับหน้าที่เป็นวิทยากรมาให้ความรู้กับชุมชน คิดเมนูใหม่ให้กับทางร้าน พร้อมทั้งร่วมสร้างสีสันให้กับงานผ่านกิจกรรมเวิร์คช้อปสอนการชงกาแฟเย็นน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะสำหรับร้านนี้ “เดิมชาวบ้านทำกาแฟโดยไม่รู้เรื่องการคำนวณช็อตหรือสัดส่วนกาแฟ รสชาติจึงไม่คงที่ ดังนั้นเมื่อสอนชาวบ้านให้มีความรู้เรื่องกาแฟ และการใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม เพื่อให้กาแฟมีมาตรฐาน โดยสูตรที่เอามาสอนจะเป็นสูตรกาแฟเย็น เนื่องจากในตลาดส่วนใหญ่ขายกาแฟเย็นได้มากกว่ากาแฟร้อน กาแฟเย็นน้ำมะพร้าวที่นี่จะมีความพิเศษ คือ ชุมชนมีมะพร้าวอยู่แล้ว การใช้มะพร้าวเผาแท้ๆ ที่ปัจจุบันในตลาดเหลือน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นมะพร้าวต้มไม่มีกลิ่นหอมเหมือนของมะพร้าวเผา ถือเป็นการต่อยอดด้วยการนำวัตถุดิบของชุมชนมาใช้ประโยชน์” นายวรกฤต กล่าว