100 วันแรกของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การคุมบังเหงียนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ปรากฏว่า เขากำลังเผชิญหน้ากับผู้นำ (ที่ถูกนิยามว่าเป็น) เผด็จการพร้อมกันถึง 2 คน นั่นก็คือ "ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล - อัสซาด" ของซีเรีย และ "ประธานาธิบดีคิม จอง อึน" ของเกาหลีเหนือ แม้ว่าทั้งสองจะปกครองประเทศที่อยู่ห่างกันคนละฝั่งของโลก แต่อริตัวฉกาจของสหรัฐฯ ทั้งคู่ก็มีหลายสิ่งที่เหมือนกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะเอามานำเสนอในวันนี้ เริ่มจาก "ธุรกิจครอบครัว" ซึ่งหากเปรียบเกาหลีเหนือ และซีเรีย เป็นบริษัทธุรกิจ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากธุรกิจครอบครัวของ 2 ตระกูล เพราะผู้นำทั้งสองตนต่างก็ได้รับสืบทอดอำนาจมาจากบิดา คือ "อดีตประธานาธิบดีฮาเฟซ อัล - อัสซาด" และ "อดีตประธานาธิบดีคิม จอง - อิล" ซึ่งทั้งสองครอบครัวต่างก็ปกครองประเทศที่มีขนาดพื้นที่ และจำนวนประชากรใกล้ๆ กันมานานหลายทศวรรษ ภายใต้ลักษณะของรัฐตำรวจ (Police State) ที่ใช้การจัดการอย่างรุนแรงต่อผู้ที่ต่อต้านเห็นต่าง ดร.ลีโอนิด เปตรอฟ อาจารย์ทุนแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (เอเอ็นยู) กล่าวว่า ขณะที่ซีเรีย และเกาหลีเหนือไม่ได้มีแนวอุดมการณ์เดียวกัน แต่ก็มีความเหมือนตรงที่มีการถ่ายทอดอำนาจผ่านทางสายเลือด และปกครองด้วยความรุนแรง และสร้างความหวาดกลัว นายฮาเฟด อัล - อัสซาด เข้ายึดอำนาจในปี ค.ศ. 1970 ผ่านการทำรัฐประหารที่ไม่สูญเสียเลือดเนื้อโดยผู้นำกองทัพ และปกครองซีเรียอยู่ 29 ปี โดยหลังจากการเสียชีวิตของบุตรชาคนโตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาก็เลี้ยงดูลูกชายคนที่สองคือ บาชาร์ อัล - อัสซาด ในฐานะทายาทอำนาจ ก่อนที่อัล - อัสซาด จะขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2000 หลังการเสียชีวิตของนายฮาเฟดผู้เป็นบิดา ขณะที่ ฝ่ายเกาหลีเหนือต้องย้อนไปไกลกว่าสักหน่อย ด้วยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตขณะนั้น ทำให้ "คิม อิล ซุง" ผู้ที่ได้สมญานามว่า "ประธานาธิบดีตลอดกาล" (The Eternal President) ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ในปี ค.ศ. 1948 จากนั้น อำนาจก็ถูกส่งผ่านมายัง "นายคิม จอง อิล" ซึ่งกลายมาเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศหลังจากเสียชีวิตของนายคิม อิล ซุง ในปี ค.ศ. 1994 และผู้นำคนปัจจุบันคือ ประธานาธิบดีคิม จอง อึนนั้น ก็คือบุตรชายคนเล็กของนายคิม จอง อิล หรือหลานปู่ของนายคิม อิล ซุง นั่นเอง ในขณะที่เกาหลีเหนือปิดประเทศ ไม่ให้ประชาชนรับรู้โลกภายนอก ปลูกฝังให้ศรัทธาผู้นำ โดยอนุสาวรีย์ของสมาชิกตระกูลคิมตั้งอยู่ทั่วประเทศด้วยความภาคภูมิใจ แต่ซีเรียกลับแตกต่าง ด้วยการดำเนินนโยบายทางการทูต และมีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับชาติตะวันตก ทว่าความสัมพันธ์ที่ว่าตกอยู่ภายใต้ความกดดันตั้งแต่เกิดสงครามกลางเมืองเมื่อกว่า 6 ปีที่แล้ว ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างดามัสคัส กับเปียงยางนั้นยังคงหอมหวานเป็นมิตรกันแน่นแฟ้นเหมือนเดิมดังที่เป็นมาหลายทศวรรษ นายฮาเฟด บิดาของผู้นำคนปัจจุบันของซีเรีย เคยพบกับนายคิม อิล ซุง เมื่อช่วงทศวรรษ 1970 และทั้งสองประเทศพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารร่วมกัน "ซีเรียมีสถานทูตในกรุงเปียงยางตั้งแต่ 1970 และเกาหลีเหนือก็ช่วยเหลือซีเรียในการพัฒนาอากาศยาน และขีปณาวุธด้วย" ดร.เปตรอฟกล่าว เกาหลีเหนือตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนที่มอบสกุด มิสไซส์ รวมถึงเทคโนโลยีในการผลิตให้ซีเรีย ซึ่งในปี ค.ศ. 2007 อิสราเอล ได้โจมตีทางอากาศใส่จุดที่คาดว่าเป็นโรงงานผลิอาวุธนิวเคลียร์ที่เชื่อว่าได้รับการพัฒนาโดยมีรัฐบาลเปียงยางให้ความช่วยเหลือ ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศนี้ มีความแนบแน่น เห็นได้ชัดจากการส่งข้อความแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และสนับสนุนกันเสมอ หลังจากที่รัฐบาลซีเรียตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีการใช้อาวุธเคมีโจมตีพลเรือน ปรางกฎว่าประธานาธิบดีเกาหลีเหนือได้ส่งสารแสดงความยินดีไปถึงผู้นำซีเรียเนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งพรรค " รัฐบาลและประชาชนชาวซีเรียสามารถปกป้องเอกราช และความมั่นคงของประเทศ และยับยั้งการรุกรานของกองกำลังที่ไม่เป็นมิตร รวมทั้งเผชิญกับความท้าทาย ภายใต้ผู้นำที่ถูกต้องของพวกคุณ" นี่เป็นข้อความที่อ้างอิงจากสื่อของรัฐบาลเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนก่อน สื่อของทางการซีเรีย อ้างแหล่งข่าวทางการของรัฐบาล ซึ่งได้ออกมาประณามสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ที่ทำการซ้อมรบร่วมว่าเป็นการยั่วยุ และแสดงความสนับสนุนประชาชน และผู้นำที่กล้าหาญของเกาหลีเหนือ และอย่างที่ทราบกันว่า นอกจากจะสนับสนุนกันเองแล้ว ทั้งสองประเทศก็มีมหามิตรเป็น 2 ชาติมหาอำนาจ ที่ทุกวันนี้ผงาดขึ้นมาค้ำคานสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นเบอร์หนึ่งโดดๆ ของโลกชนิดไม่มีใครเทียบเทียมได้อีกแล้ว นั่นก็คือ ซีเรียได้รับอาวุธ และการสนับสนุนทางกองทัพจากรัสเซีย ขณะที่เกาหลีเหนือ ก็พึ่งพาจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศกว่าร้อยละ 80 ของโสมแดงอยู่กับปักกิ่งล้วนๆ ล่าสุด สถานการณ์ร้อนๆ ขณะนี้ ทั้งเกาหลีเหนือ และซีเรียต่างมีความสอดคล้องกันมากในฐานะที่ต่างกำลังเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ซึ่งสำนักข่าวของซีเรียถึงขนาดเรียกสหรัฐฯ ว่า "ปฏิปักษ์ร่วม" ของทั้งสองชาติ เชีย คอตตัน จากสมาคมนักวิจัยของศูนย์เจมส์ มาร์ติน เชื่อว่าสถานะการจับคู่เช่นนี้จะยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศยิ่งใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะต่างเป็นประเทศที่โดดเดี่ยว แต่ก็มีสิ่งซึ่งแต่ละฝ่ายต้องการระหว่างกัน โดยเกาหลีเหนือต้องการเงินสกุลต่างประเทศ ขณะที่ซีเรียต้องการอาวุธ ขณะนี้ ซึ่งทั้งคู่ตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ที่พยายามจะยุติสิ่งที่กล้าวอ้างว่าซีเรียมีการใช้อาวุธเคมีขณะที่ เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยพยายามกดดันทั้งรัสเซีย และจีนให้ละทิ้งทั้งคู่ รวมถึงเรียกร้องให้ประชาคมโลกโดดเดี่ยว 2 ชาตินี้ผ่านมาตรการคว่ำบาตร และขู่ว่าจะใช้ปฏิบัติการทางการทหาร ทำให้ต้องติดตาสถานการณ์สองฝั่งโลกอย่างไม่กระพริบตากันเลยทีเดียว