อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563 โดยมี 2 เรื่องที่น่าสนใจ คือ 1.การดูแลตลาดทุน ทั้งผู้ลงทุนและผู้ประกอบการที่เข้ามาระดมทุน ภายใต้ภาวะที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุน และ 2.กำหนดแนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว หลังจากวันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเพิ่มวงเงินการลดหย่อนภาษีกองทุนรวมเพื่อการออม (เอสเอสเอฟ) เพิ่มเติมอีก 2 แสนบาท จากเดิมสามารถลดหย่อนภาษีร่วมกับกองทุนประเภทอื่นๆ ได้ไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งจะเปิดให้ซื้อขายกองทุนเอสเอสเอฟ ที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป ทั้งนี้ได้มีการวางแผนในการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อให้สามารถส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย ให้ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีสากล ทำให้ต้องเน้นย้ำในการมองว่า ตลาดทุนมีแผนงานในด้านใดบ้าง อาทิ การยกระดับการเข้าถึงตลาดทุนของประชาชนทั่วไปในวงกว้าง รวมถึงผู้ประกอบการที่จะเข้ามาระดมทุน สตาร์จอัพ และเอสเอ็มอีต่างๆ ซึ่งการเข้าถึงประชาชน จะใช้เครือข่ายสถาบันทางการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน รวมถึงธนาคารกรุงไทย มาช่วยพัฒนาตลาดทุนไทยร่วมกัน "เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปในระดับฐานรากเข้าถึงตลาดทุนไทยมากขึ้น โดยจะเสริมองค์ความรู้ ความเข้าใจ ทักษะในการบริหารการเงิน รวมถึงตลาดทุน ภายใต้แผนการพัฒนาตลาดทุนไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะร่วมมือในการยกแผนดำเนินการเสริมทักษะในระดับชุมชน นอกเหนือจากชุมชนเมือง ในรูปแบบที่เหมาะสมในเชิงปฎิบัติ อาทิ การบริหารการเงินในระดับชุมชน ครอบครัว ซึ่งจะหาทางเข้าไปเสริมทักษะให้คนกลุ่มนี้เพิ่มเติม" นายอุตตมกล่าว นายอุตตมกล่าวว่า ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงการลงทุนในวงกว้างได้ โดยนำร่องด้วยโครงการ “บอนด์ละบาท” ที่ตั้งใจจะเปิดให้ประชาชนซื้อพันธบัตรออกใหม่ได้ในอัตราหน่วยละ 1 บาทเท่านั้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยลดต้นทุนการออกบอนด์ และส่งผลให้สามารถเสนอขายบอนด์ขั้นต่ำได้ถูกลงจากเดิมขั้นต่ำอยู่ที่หน่วยละ 1,000 บาท โดยพบว่าผู้ลงทุนสนใจลงทุนในราคาหน่วยละประมาณ 50-100 บาท ปัจจุบันสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ก.ล.ต. และ ตลท.อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบและระบบการขายบอนด์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถออกบอนด์ในโครงการบอนด์ละบาทได้ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2563