ภายหลังจากที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ TI ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ปี 2562 จาก 180 ประเทศทั่วโลก โดยประเทศเดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ได้อันดับที่ 1 ด้วยคะแนนสูงสุด 87 คะแนน ส่วนประเทศไทยได้ 36 คะแนน เป็นอันดับที่ 101 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 6 ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งประเทศสิงคโปร์ได้คะแนนสูงสุดคือ 85 คะแนน ซึ่งเมื่อปี 2560 ประเทศไทยเคยอยู่ในอันดับ 96 ของโลก จากทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลกในปี 2561 ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เป็นอันดับที่ 99 ของโลก และล่าสุดในปี 2562 พบว่าประเทศไทยยังคงได้ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 แต่อันดับร่วงลงมาสองอันดับ จากอันดับที่ 99 มาอยู่ที่ 101 ของโลก นั่นชี้ว่าประเทศไทยมีอันดับในการเป็นประเทศที่โปร่งใสลดลงทุกปี จากผลคะแนนข้างต้น เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และพลเมืองไทยทั้งประเทศ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เพื่อให้สังคมไทยก้าวข้ามความไม่เท่าเทียมกันอย่างมีประสิทธิผล คือการที่ทุกภาคส่วนจะต้องแสดงความจริงใจ และปรับฐานความคิดในการไม่เพิกเฉยกับการทุจริตในทุกระดับ โดยในวันนี้ (10 มี.ค. 63) หน่วยงานภาคเอกชนร่วมกันจัดงานเสวนาในหัวข้อ #ไม่ทนคนโกง “NO MORE CORRUPTION ยิ่งเปิด ยิ่งโปร่งใส” เพื่อเป็นการจุดกระแสสังคมไทย โดยการพูด คุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองที่แตกต่างจากบุคคลที่หลากหลายในสังคม เพื่อให้ตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจ และสร้างแนวความคิดเกี่ยวกับการไม่ทนต่อการทุจริตในสังคมไทย โดยหัวข้อของการเสวนา “ยิ่งเปิด ยิ่งโปร่งใส” เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลทั้งในส่วนงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึง และสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างโปร่งใส โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. , ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิช ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา (TDRI), นางสาวปณิดา ยศปัญญา เจ้าของรางวัล Anti-Corruption Awards 2019 และนายนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดดาเบลส) ร่วมเสวนา ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า“ สาเหตุสำคัญที่มีผลทำให้คะแนนความโปร่งใสของประเทศลดลงคือ เรื่องสินบน การทุจริตเป็นเรื่องของพฤติกรรมของบุคคล บทบาทหน้าที่ของ ป.ป.ช. มีทั้งภาระกิจเรื่องแรกคือการปราบปราม การยึดทรัพย์สิน ตามผู้กระทำผิดมาลงโทษ อันที่สองคือเรื่องของการตรวจสอบทรัพย์สิน อันที่สามคือการปลูกฝังวิธีคิดที่ถูกต้อง สำนักงาน ป.ป.ช. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล จากรัฐมนตรี ให้เป็นเจ้าภาพหลัก ในการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยอีก 18 ปี พ.ศ. 2580 วางเป้าหมายว่าค่า CPI ประเทศเราจะได้ 73 คะแนน ในการแก้ไขปัญหาทุจริตเราต้องใช้ 3 วิธีการ ตามหลักสากล ได้แก่ ปราบปราม ป้องกัน และการปลูกฝัง อันดับแรกเรื่องการปราบซี่งคณะกรรมการชุดนี้ก็เร่งดำเนินการอยู่ มีคดีออกมามากมายอย่างที่เห็น สองคือการป้องกันคือเอาข้อมูลต่างๆ มาเปิดเผยทางเว็ปไซต์ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การบริการประชาชน ข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนั้นก็จะมีการสำรวจพฤติกรรม และจริยธรรมของคนภายในองค์กรเอง รวมถึงคนที่เข้ามาติดต่อจากนอกองค์กรเองด้วย นำเอา 3 เครื่องมือมารวมกันเป็นภาพรวม โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้กำลังดำเนินการเร่งเปิดเผยข้อมูล 8,300 หน่วยงาน ผ่านตัวชี้วัด 970 หน่วยงาน เท่ากับ 11% ซึ่งตอนนี้ก็พยายามเร่งให้ได้ตามตัวชี้วัดอยู่ ส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือในเรื่องของคน โดยได้จัดทำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา แตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆคือ มันจะเป็นหลักสูตรจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งคนที่ไม่ทนต่อการทุจริตได้นั้นสิ่งแรก คือ จะต้องคิดเวลาจะทำอะไรต้องคำนึงถึงคนอื่นก่อน ประโยชน์ของตนเองเป็นลำดับสอง เราพยายามที่จะออกแบบระบบแต่สุดท้ายปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือตัวคน ICAC กล่าวว่าการแก้ปัญหา คอร์รัปชันที่สำคัญยั่งยืนที่สุด คือ CHANGING PUBLIC ATTITUDES คือการเปลี่ยนระบบความคิดของคน จากการที่มองประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ต้องปรับใหม่มองประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ดังนั้น ป.ป.ช. ทำหน้าที่ทั้ง หนึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายตามที่มีเรื่องเข้ามา สองคือออกแบบระบบใหม่ ให้มีความรัดกุมมากขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น สามคือปลูกฝังจิตสำนึก คิดหลักสูตร และทำการเผยแพร่สิ่งเหล่านี้ เพื่อทำให้เกิดผลในระยะยาว แต่ทั้งหมดนั้นต้องมีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน คนไทยทั้งประเทศต้องร่วมมือกัน เพราะคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ” นอกจากนี้กลุ่มศิลปิน ได้แก่ เป้ MVL – บดินทร์ เจริญราษฎร์, ต่าย อรทัย , ไผ่ พงศธร และศิลปินวงพาราด็อกซ์ ซึ่งเป็นตัวแทนในการถ่ายทอดบทเพลงเพื่อจุดกระแสสังคมที่จะไม่ทนต่อการทุจริตนั้น ได้ร่วมรณรงค์กับกลุ่มนิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ในเรื่องของปลูกจิตสำนึกที่จะร่วมกันไม่ทนต่อการโกงในทุกรูปแบบ และการต่อต้านการคอร์รัปชัน อีกทั้งงานนี้ยังได้รับเกียรติจาก ครูสลา คุณวุฒิ นักประพันธ์เพลงชื่อดัง มาร่วมพูดคุยถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงรณรงค์เพื่อการไม่ทนคนโกงอีกด้วย โดยงานเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากเยาวชน นิสิต นักศึกษาจากสถาบันต่างๆ เข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก