เหมืองทองอัคราหลังถูก ม.44 สั่งปิดมาตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2559 ถึงวันนี้ยังไม่พ้นวิบากกรรม ผู้ว่าฯพิจิตร ตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจสอบหลัง บก.ปทส. รับแจ้งบุกรุกป่าและทางสาธารณะ ฝ่ายเหมืองทองยืนยันทำถูกต้องทุกขั้นตอน ส่วนการร้องอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ที่ประเทศสิงคโปร์ มีการเรียกทั้งสองฝ่ายไต่สวนส่งเอกสารไปแล้ว เมื่อ 1-10 ก.พ. 2563 นับถอยหลังไม่เกิน 6 เดือน รับฟังคำตัดสินที่เหมืองทองร้องถูกปิดโดยไม่ชอบธรรมไม่มีเหตุทางวิทยาศาสตร์รองรับ รัฐบาลใช้อำนาจโดยพลการ วันที่ 9 มี.ค. 2563 นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร สั่งการมอบหมายให้ นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และ นายวิชัย แตโช ป่าไม้จังหวัดพิจิตร พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร – ที่ดินจังหวัดพิจิตร – สปก.จังหวัดพิจิตร – นายอำเภอทับคล้อ –นายก อบต.เขาเจ็ดลูก ที่จังหวัดพิจิตร ตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบเหมืองแร่ทองคำอัคราฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งถูก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในยุครัฐบาล คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งปิดเหมืองทองอัครา จากนั้นฝ่ายเหมืองทองอัคราฯ หรือ บริษัทคิงส์เกต ได้ร้องไปยังอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อขอความเป็นธรรม โดยร้องว่าเหมืองทองอัคราถูกปิดกิจการโดยไม่ชอบธรรม ไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ รัฐบาลใช้อำนาจโดยพลการ ซึ่งการร้องในครั้งนั้น ได้เรียกร้องค่าเสียหายตามหลักคิดคำนวณ ซึ่งเป็นตัวเงินจำนวนมหาศาล แต่อยู่ในชั้นความลับที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่เปิดเผย โดยเมื่อวันที่ 1-10 ก.พ. 2563 ตัวแทนฝ่ายบริษัทคิงส์เกต และตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทย ได้เดินทางไปที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้ปากคำและแสดงหลักฐาน โดยทั้งสองฝ่ายได้ใช้เวลาฝ่ายละเท่าๆกันในการยื่นเอกสารและให้ข้อมูลกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งหลังจากนี้นับถอยหลังภายใน 6 เดือน ก็จะมีผลคำวินิจฉัยออกมาว่า เป็นเช่นไร แต่ล่าสุดวันนี้ฝ่ายราชการของจังหวัดพิจิตรที่ตั้งขึ้นในรูปแบคณะกรรมการก็ได้เข้าตรวจสอบเหมืองทองอัคราฯ อีกครั้ง เพื่อค้นหาข้อมูล ว่า เหมืองทองอัคราฯ ดำเนินกิจการผิดกฎหมายในเรื่องการบุกรุกป่าไม้ถาวร และทำลายทางสาธารณะ ซึ่งฝ่ายเหมืองทองอัคราฯ ได้เตรียมเอกสารโฉนดที่ดิน แผนที่ รวมถึงเอกสารต่างๆที่เคยใช้ยื่นขอประทานบัตร จากกระทรวงอุตสาหกรรม – กรมป่าไม้ – กรมที่ดิน – ราชการส่วนท้องถิ่นต่างๆ ออกมาแสดงอย่างมั่นใจว่าทำถูกต้องทุกอย่าง เพราะตั้งแต่เหมืองทองอัคราฯ ถูก ม.44 สั่งปิด มาตั้งแต่ วันที่ 31 ธ.ค. 2559 จากวันนั้นถึงวันนี้มีส่วนราชการหลายสิบหน่วยงานลงมาตรวจซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า แต่ก็ไม่มีผลการตรวจ หรือ ชี้ชัดว่าเหมืองทองอัคราฯ กระทำความผิดในเรื่องใด ? ในส่วนของ นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร และ นายวิชัย แตโช ป่าไม้จังหวัดพิจิตร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า จากการทีต้องลงพื้นที่มาตรวจเหมืองทองอัคราฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากได้รับคำสั่งจาก ผู้ว่าฯพิจิตร ออกคำสั่งในรูปของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นให้ตรวจสอบข้อเท้จจริงเพื่อตรวจสอบตามที่ได้รับแจ้งจาก กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ที่แจ้งมาว่า ในพื้นที่ทำเหมืองทองอัคราฯ บุกรุกป่า และมีการไม่ได้ขอให้เส้นทางสาธารณะ จึงต้องมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างดำเนินการจึงยังไม่สามารถระบุว่า ถูกหรือผิด อย่างไร หรือไม่ ?