"พิธา"แถลงนำ 55 ส.ส.ย้ายเข้า"พรรคก้าวไกล" ระบุแม้อยู่บ้านหลังใหม่แต่ยังหัวใจเดิมสานต่อภารกิจอุดมการณ์"ต้านรัฐประหาร-ผลักดันนโยบายก้าวหน้า" ลุยสมัครสมาชิกสัปดาห์หน้า "ปชป."แนะเปิดประชุมสภาวิสามัญ ดึงสารพัดปัญหามาถกในสภา ดีกว่าปล่อยแก้ตามยถากรรมจนถึงชุมนุมข้างถนน สุ่มเสี่ยงการกลับมาอำนาจนอกระบบ "ณัฐชา"จ่อยื่น"ปธ.สภา"ส่ง"ศาลรธน.-ปปช." เอาผิด “ธรรมนัส”ปมติดคุก-หุ้นเมีย "นิด้าโพล"ระบุประชาชนให้"ฝ่ายค้าน"สอบผ่านซักฟอก! แต่ไม่เด็ดพอมัดรมต. ไม่เชื่อ"เพื่อไทย"จูบปากรัฐบาลร่วมก๊วน ครม.ใหม่ ที่ศูนย์ประสานงานฝั่งธนบุรี อดีตพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.63 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แกนนำอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ นำ55อดีตส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แถลงว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะประกาศอย่างเป็นทางการว่าเราจะย้ายไปพรรคใหม่ด้วยกันและขอยืนยันว่าพรรคใหม่ที่เราจะย้ายไปนั้นคือพรรคที่ชื่อว่าพรรคก้าวไกล ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานในการที่เราจะไปสมัครเข้าพรรคในอาทิตย์หน้า และขอยืนยันอีกครั้งว่าภารกิจของพวกเรา ส.ส.ทั้ง55คน คือการสานต่ออุดมการณ์และภารกิจของพรรคอนาคตใหม่ “ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ที่เหลือยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์ หลักการที่เคยร่วมกันทำงานในอดีตพรรคอนาคตใหม่ ขอให้พี่น้องประชาชนได้มั่นใจ แม้จะอยู่บ้านหลังใหม่แต่หัวจิตหัวใจยังเหมือนเดิม เรายังคงยืนอยู่ข้างประชาชน ยืนอยู่ข้างประชาธิปไตย ยืนหยัดต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และผลักดันวาระนโยบายที่ก้าวหน้าต่อไป” นายพิธา กล่าวว่า ทั้งนี้ที่ประชุมอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ มีมติว่าเราจะไปสมัครสมาชิกพรรคก้าวไกลร่วมกันในสัปดาห์หน้า และที่ประชุมได้มีมติเลือกให้ตนเป็นประธานส.ส.ชั่วคราวในระหว่างนี้ รวมถึงแต่งตั้ง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ให้เป็นโฆษกชั่วคราวในระหว่างสัปดาห์นี้และสัปดาห์หน้า ถึงวันนี้เราจะยังอยู่ในกระบวนการย้ายเข้าบ้านใหม่ แต่ปัญหาของประชาชนนั้นรอไม่ได้ และส.ส.ของพรรคทั้งหมดยังคงเดินหน้าทำงานในประเด็นต่างๆต่อไป ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรงและมีปัญหาต่างๆมากมายคอยรุมเร้ารัฐบาล นับตั้งแต่เสียงเรียกร้องให้มีการปรับ ครม. การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา ปัญหาการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 และกระแสเสียงสนับสนุนจากกองเชียร์ลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ ซึ่งรัฐบาลต้องรีบเร่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือแนวทางการทำงานใหม่ ถ้าหากยังย่ำอยู่กับแนวความคิดแบบเดิมๆ รัฐบาลก็จะล้าหลังกว่ามวลชน และจะตกขบวนของสังคมไปในที่สุด จากปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถ้ารัฐบาลไม่แก้ปัญหาในเชิงรุก ก็ต้องกลับมาเป็นฝ่ายตั้งรับเสียเอง จากข้อเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อนำปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มาพูดคุยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร ดีกว่าปล่อยให้ปัญหาต่างๆลุกลามหรือเคลื่อนไหวภายนอกสภาซึ่งอาจจะพัฒนาเป็นการชุมนุมตามท้องถนนได้ นับว่าไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ของบ้านเมืองอย่างแน่นอน สำหรับความหวังเรื่องการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอของสมาชิกรัฐสภานั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น เพราะการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ตามมาตรา123 ต้องใช้เสียง1ใน3ของสมาชิกรัฐสภา คือ250คน จะมีแต่สมาชิกฝ่ายรัฐบาล กับสมาชิกวุฒิสภาเท่านั้น ที่จะใช้เสียง1ใน3เข้าชื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้เปิดสภาสมัยประชุมวิสามัญได้ ส่วนสมาขิกพรรคร่วมฝ่ายค้านหมดสิทธิ์ที่จะใช้เงื่อนไขตามมาตรา123 เพราะฝ่ายค้านในขณะนี้มีเสียงประมาณ230เสียงเท่านั้น ส่วนการใช้ช่องทางตามมาตรา165 เป็นสิทธิ์ของรัฐบาลโดยตรงที่จะใช้โอกาสนี้เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้มีการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติ แต่ถ้าสำรวจดูจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลก็ยังไม่มีวี่แววใดๆ ว่ามีความต้องการจะให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญแต่ประการใด ซึ่งเห็นได้จากการส่งสัญญานจากประธานวิปรัฐบาล ที่ส่งข้อความห้าม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ลงชื่อในญัตติการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญอย่างชัดเจน ส่วนการออกมาปฎิเสธว่าไม่มีการห้าม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลลงชื่อนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะในหมู่สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลเป็นที่รับรู้กันทุกคนว่า รัฐบาลไม่ต้องการให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ และจนบัดนี้ยังไม่มีท่าทีใดๆต่อการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญจากรัฐบาลเลย ส่วนการที่มีข้อเสนอให้นำปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าสู่การแก้ปัญหาผ่านคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน เพราะหลายปัญหาเป็นปัญหาการเมือง ต้องระดมความคิดจากหลายๆฝ่าย และต้องมีคณะกรรมาธิการวิสามัญเป็นการเฉพาะโดยตรงจะเหมาะสมกว่า “เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองเดินมาถึงตอนนี้แล้ว ก็เป็นทางเลือกของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ารัฐบาลจะนำปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อปัญหาในระบบ หรือจะปล่อยให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกระจัดกระจายอยู่บนท้องถนน แก้ปัญหากันไปตามยถากรรม ซึ่งจะเป็นการล่อแหล่ม และสุ่มเสี่ยงต่อการกลับมาของอำนาจนอกระบบเป็นอย่างยิ่ง” นายเทพไท กล่าว ด้าน นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า สืบเนื่องจากสิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจของอดีตพรรคอนาคตใหม่ โดยผลการโหวตของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่น้อยที่สุดในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย โดยข้อมูลที่ตนได้อภิปรายไปมีผลสืบเนื่องทางกฎหมายที่จะต้องส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมูญ โดยกลุ่มส.ส.55 คนของเรา จะนำเรื่องของร.อ.ธรรมนัส ทั้งการเคยถูกจำคุกมาก่อน และภรรยาถือครองหุ้นในบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับรัฐวิสาหกิจ ซึ่งขัดกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และมีความผิดชัดเจนที่จะต้องหลุดจากส.ส. โดยกลุ่มของเราจะนำเรื่องส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำส่งศาลรัฐธรรมนธูญต่อไป ขณะที่เรื่องของการขัดจริยธรรมขัดกันซึ่งผลประโยชน์แห่งรัฐ เราจะนำเรื่องส่งไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คุณไว้วางใจฝ่ายค้านหรือไม่?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 2 - 5 มีนาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,510 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการไว้วางใจการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล จากการสำรวจเมื่อถามถึงการติดตามข่าวการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 9.44 ระบุว่า ติดตามข่าวตลอด ร้อยละ 44.07 ระบุว่าติดตามข่าวบ้างพอสมควร ร้อยละ 16.81 ระบุว่า ไม่ค่อยติดตาม ร้อยละ 29.60 ระบุว่า ไม่ติดตามเลย และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อมูลเด็ดของฝ่ายค้านในการมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนดิ้นไม่หลุด เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 32.02 ระบุว่า มีข้อมูลเด็ดที่สามารถมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจนดิ้นไม่หลุด ร้อยละ 44.90 ระบุว่า มีข้อมูล แต่ไม่เด็ดเพียงพอที่จะมัดรัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายจนดิ้นไม่หลุด ร้อยละ 14.00 ระบุว่า ไม่มีข้อมูลเด็ดเลย และร้อยละ 9.08 ระบุว่า ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ส่วนความเชื่อของประชาชนต่อกระแสข่าวที่ว่า พรรคเพื่อไทยมีข้อตกลงพิเศษกับรัฐบาลในการทำให้รัฐมนตรีบางรายไม่ต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากข้อจำกัดทางเวลา เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 10.05 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 23.16 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 27.63 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 30.75 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 8.41 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการไว้วางใจของประชาชนต่อฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวตลอดและติดตามข่าวบ้างพอสมควร พบว่า ร้อยละ 26.28 ระบุว่า ไว้วางใจมาก เพราะ ฝ่ายค้านมีข้อมูล หลักฐาน ในการนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจที่สามารถทำให้ฝ่ายรัฐบาลถูกตรวจสอบการทำงานได้ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เชื่อมั่นในบุคลากรของพรรคเพื่อไทยและอดีตพรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 34.92 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ เพราะ ฝ่ายค้านมีข้อมูลที่ชัดเจน มีเหตุผลตรงไปตรงมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เชื่อมั่นในการทำงานของฝ่ายค้าน ร้อยละ 22.26 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ เพราะ ข้อมูลยังมีไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้ถูกอภิปรายฯ มากกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนหรือประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า สองพรรคใหญ่ทางฝ่ายค้านไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ร้อยละ 13.78 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย เพราะ ข้อมูลไม่ตรงประเด็นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ฝ่ายค้านพยายามจะล้มรัฐบาลอย่างเดียว ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง และร้อยละ 2.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ