พาณิชย์ไฟเขียวต่างชาติลงทุนไทย ก.พ. 20 ราย วงเงินลงทุน 718 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 314 คน พร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการฯ อนุญาตให้คนต่างชาติ 20 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และอินเดีย ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 718 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 314 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน “การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนักเช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์โลหะและเทคโนโลยีการรีไซเคิล องค์ความรู้เกี่ยวกับการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคขั้นสูงสำหรับการอบชุบโลหะด้วยความร้อนและเทคนิคการเลือกใช้สารชุบให้เหมาะกับชนิดของโลหะ องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์จัดเก็บพลังงานไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกไบโอคอมพาวด์ เป็นต้น” สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตได้แก่ ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม 7 ราย เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐฯ เงินลงทุน 536 ล้านบาท ธุรกิจตัวแทน/ค้าส่ง 3 ราย เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ และอินเดีย เงินลงทุน 65 ล้านบาท คู่สัญญากับเอกชน 2 ราย เป็นนักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ และจีน เงินลงทุน 27 ล้านบาท และธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า 8 ราย เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเบอร์มิวดา เงินลงทุนจำนวน 90 ล้านบาท โดยเดือนก.พ.63 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเป็นธุรกิจที่สนับสนุนการทำงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ธุรกิจที่ส่งเสริมตลาดทุน รวมถึงประกอบธุรกิจสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.พ.)คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาต 45 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,630 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้น 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 32 ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 1,235 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 313 เนื่องจากปี 2563 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการออกแบบ ติดตั้ง วางระบบ ทดสอบ ให้คำแนะนำทางเทคนิค ฝึกอบรม และบำรุงรักษาระบบโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet Protocol Television (IPTV)บริการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำและแอ่งจอดเรือที่บริเวณท่าเทียบเรือ เป็นต้น