ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,113 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3 - 5 มีนาคม 2563 พบว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ถ่ายทอดผ่านการสัมผัสโดยตรงกับฝอยละออง จากลมหายใจของผู้ติดเชื้อ (ที่เกิดจากการไอและจาม) การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน อาจอยู่รอดบนพื้นผิวเป็นเวลาหลายชั่วโมง แต่ก็ถูกทำลายได้ด้วยสารฆ่าเชื้อทั่วไป ซึ่งปัจจุบันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการระบาดของโรคดังกล่าวไปทั่วโลก และในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 43 คนมีผู้เสียชีวิต 1 คน และรักษาหาย 31 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มีนาคม 2563) ขณะที่วิธีการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถทำด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ทานอาหารที่ปรุงสุก ต้องใช้ช้อนกลาง เมื่อทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ล้างให้สะอาด และหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 มี.ค.2563 เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย กรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อฯมีอำนาจ สั่งปิดสถานที่ต่างๆ ไว้เป็นการชั่วคราว สั่งให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเข้าไปในสถานที่บางแห่ง ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาประชาชนได้ตื่นตระหนกในการป้องกันการแพร่ระบาดทำให้หน้ากากอนามัยขาดตลาด รัฐบาลจึงได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปันส่วนหรือจำหน่ายหน้ากากอนามัย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ทำให้การโก่งราคาขายหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม มีความผิดทางอาญาโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ประชาชนที่พบเห็นการกระทำความผิด โทรแจ้งได้ที่สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ กล่าวว่า สำหรับผลการสำรวจในครั้งนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกตื่นตกใจทุกครั้งที่ได้ยินข่าวเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 76.9 ,เกิดความกลัวการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 81.0 ,มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันจากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 57.9 และทราบวิธีการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยการสวมหน้ากากอนามัย ทานอาหารที่ปรุงสุก ต้องใช้ช้อนกลาง เมื่อทานอาหารร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ล้างให้สะอาด และหลีกเลี่ยงเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยง ร้อยละ 80.6 ส่วนกลุ่มตัวอย่างประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่ามีการประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2563 ร้อยละ 68.7 ,ทราบว่ากรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย ให้คณะกรรมการโรคติดต่อฯมีอำนาจ สั่งปิดสถานที่ต่างๆ ไว้เป็นการชั่วคราว สั่งให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคหยุดการประกอบอาชีพชั่วคราว และสั่งห้ามผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคเข้าไปในสถานที่บางแห่ง ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 55 ,ทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2563 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปันส่วนหรือจำหน่ายหน้ากากอนามัย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ร้อยละ 68.7 ,ทราบว่า การโก่งราคาขายหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสินค้าควบคุม มีความผิดทางอาญาโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ประชาชนที่พบเห็นการ กระทำความผิด โทรแจ้งได้ที่สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 ร้อยละ 55.9 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ กล่าวอีกว่า ส่วนใหญ่คิดว่าการประกาศโรคติดเชื้อไวรัสควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย สามารถป้องกันการแพร่ระบาดโรคดังกล่าว ร้อยละ 42.9 ,คิดว่าการประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปันส่วนหรือจำหน่ายหน้ากากอนามัย ไม่สามารถป้องกันการจำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคา ร้อยละ 43.8 ,ส่วนใหญ่คิดว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ร้อยละ 36 และคิดว่าปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ร้อยละ 69