เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมคณะลงพื้นติดตามการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในจังหวัดชัยนาทเพื่อดำเนินโครงการแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้จังหวัดชัยนาทได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 4 อำเภอคือ อำเภอวัดสิงห์ หนองมะโมง เนินขาม และหันคา โดยได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท ปภ. และชลประทาน ดำเนินการการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ และสั่งการให้หาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และเตรียมเครื่องจักรกลสำหรับช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ รวมถึงการขุดลอกคลองเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจาก รมช.มหาดไทยและคณะ ยังได้ติดตามโครงการที่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณปี 2562 งบกลางจังหวัดละ 200 ล้านบาท ซึ่งบางจังหวัดไม่สามารถจัดทำโครงการได้ทัน โดยนายนิพนธ์ ระบุให้หน่วยงานที่ขอรับงบประมาณเพิ่มเติมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563 ให้เร่งรัดดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด และให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ซึ่งได้ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินโครงการขุดลอกแก้มลิงบางตาด้วง อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท และตรวจติดตามการดำเนินโครงการขุดลอกคลองชักน้ำ คลองกระทง ตำบลหนองบัว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทด้วย ต่อมาเวลา 13.30 น. นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมคณะเดินทางต่อไปที่ต.อุทัยธานี เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมตรวจโครงการขุดลอกสระเก็บน้ำสำหรับผลิตประปาหมู่บ้าน ตำบลหนองไผ่แบน และตรวจโครงการชุดลอกพื้นที่กักเก็บน้ำเขื่อนวังร่มเกล้า ตำบลเขาขี้ฝอย อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้ลงพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีเพื่อติดตามการแก้ปัญหาภัยแล้งในจังหวัดอุทัยธานี โดยในปีนี้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงทำให้มีปริมาณน้ำน้อยมากเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปีที่สระเก็บน้ำแห่งนี้ไม่มีน้ำอยู่เลย จึงลงพื้นที่ในการเร่งรัดออกแบบวางแผนการขุดลอกคลอง เพื่อรับน้ำในช่วงฤดูฝน ทั้งในด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ประชาชนในจังหวัดอุทัยธานีต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดหน้าแล้งโดยไม่ขาดแคลน ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดอุทัยธานีไม่ให้ได้รับผลกระทบ และไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง และเป็นการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง และขอให้ทางจังหวัดเตรียมความพร้อมในการเบิกจ่ายงบประมาณและนโยบายจากทางทางรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดและดำเนินการเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร