ท่ามกลางสมรภูมิ “แฟลชม็อบ” ที่กำลังคุกรุ่น เมื่อกระแสลุกลามขยายตัวไปจากระดับนักศึกษามหาวิทยาลัยลงไปสู่นักเรียนขาสั้นชั้นมัธยมศึกษา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องเผชิญกับศึกในที่ระอุไม่แพ้กัน จากการงัดข้อต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาล ลงไปถึงกลุ่มก๊กต่างๆภายในพรรคแกนนำรัฐบาลเองที่สำแดงอิทธิฤทธิ์ออกมาภายหลังกระแสข่าวปรับคณะรัฐมนตรีดังกระหึ่มในห้วงเวลานี้ แม้ “บิ๊กตู่”จะยืนกรานกับผู้สื่อข่าวว่ายังไม่ให้คำตอบอะไรตอนนี้ และไม่ได้หมายความว่าจะปรับหรือไม่ปรับ พร้อมกับดักคอว่าอย่านำไปตีความ “เป็นเรื่องที่ผมต้องตัดสินใจเองเมื่อถึงเวลาของผม” ในความไม่ชัดเจน กลับมีความชัดเจนยอยู่ภายใน เมื่อเส้นทางการปรับคณะรัฐมนตรีดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยแนวโน้มมาจากเก้าอี้รัฐมนตรีที่จะว่างลงหนึ่งตำแหน่ง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ของ ดอน ปรมัตถ์วินัย ที่หมดสัญญาใจ ตามที่เคยได้ประกาศไว้ก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าจะขอลาออกไปพักผ่อน ซึ่งก็มีข่าวว่า เตรียมจะโยก ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ “หม่อมเต่า” ออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย มาเสียบแทน ทำให้มีการคาดการณ์ถึงแคนดิเดตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนใหม่ว่าจะมาจาก 2 คนนี้ คือ สุชาติ ชมกลิ่น หรือ “เสี่ยเฮ้ง” ส.ส.ชลบุรี กับ อนุชา นาคาศัย หรือ “เสี่ยแฮงก์” ส.ส.ชัยนาท ที่มาจากพรรคเดียวกัน คือพลังประชารัฐ แต่คนละกลุ่ม ทำให้ยามนี้ฝุ่นตลบภายในพรรคพอๆกับฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมประเทศไทย กระนั้น การว่างลงเพียงตำแหน่งเดียว เมื่อแต่งตั้งรัฐมนตรีมาทดแทนแล้ว โดยหวังว่าทุกอย่างจะจบลงนั้น อาจเป็นไปได้ยาก เพราะเมื่อมีการขยับเก้าอี้ใดเก้าอี้หนึ่ง ย่อมเกิดแรงเขย่าไปอีกหลายเก้าอี้ จนอาจกลายเป็น “โดมิโน” ที่กระทบไปทั้งหมด โดยเฉพาะเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ที่ถูกแสงสปอตไลต์ฉายจับ ล็อกเป้าในการปรับคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้ เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ยิ่งปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมจำเป็นต้องหาทางเร่งสร้างความเชื่อมั่น หนึ่งในนั้นคือการปรับเปลี่ยนขุนพลในทีมเศรษฐกิจ ทว่า ไม่ทันไรก็มีเสียง “ขู่ฟ่อ” ออกมาจากปีกของพรรคประชาธิปัตย์ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคจะออกมาประกาศห้ามแตะโควต้ารัฐมนตรี “7 เก้าอี้” ของประชาธิปัตย์ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมารัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ถูกอภิปราย ดังนั้นรัฐมนตรีของพรรคจึงไม่มีความด่างพร้อย อีกทั้งทุกอย่างจบไปตั้งแต่มีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ”โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว ถอดรหัสนัยจากวาทกรรมของโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่า “ทุกอย่างจบไปตั้งแต่มีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ” สะท้อนว่า พรรคประชาธิปัตย์เอง รับรู้ว่า พรรคประชาธิปัตย์เองถูกจับตาจากพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากก่อนหน้า ลงคะแนนไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีและ 5 รัฐมนตรี ในวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 17 คน รวมตัวกันแถลงจุดยืน “ไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีคนดัง อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่แพ้มติของพรรคจึงต้องจำใจยกมือให้ผ่าน ถือเป็นการตั้งใจส่งสัญญาณนี้ไปที่พรรคพลังประชารัฐ และพล.อ.ประยุทธ์โดยตรง นัยหนึ่งสะท้อนการยึดมั่นอุดมการณ์ นัยหนึ่งคือพฤติการณ์เหยียบบ่าเพื่อน!! ที่อาจถูกกังขาเรื่องมารยาทในการอยู่ร่วมกันในพรรคร่วมรัฐบาล ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่พรรคประชาธิปัตย์ จะออกตัวเช่นนี้ แต่นั่นก็เท่ากับเป็นการคอนเฟิร์มว่า จะมีการปรับครม. เกิดขึ้นจริง “ถ้ามาดึงใครเข้ามา ก็ต้องเอาสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐไปจัดสรรใหม่ หากมาดึงโควต้าในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลไปเกลี่ยใหม่ มีหวังรัฐบาลพัง”แหล่งข่าวในพรรคประชาธิปัตย์ระบุ ขณะที่อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พูดชัดเจนว่า การปรับ คณะรัฐมนตรีถือเป็นการปรับของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งหากจะปรับหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นเรื่องปกติและเป็นเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็กวาดต้อนส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่เข้าคอก จากเดิมที่มีส.ส.อยู่ 52 เสียง เพิ่มขึ้นเป็น 61 เสียง กลายเป็นพรรคอันดับ 2 ในพรรคร่วมรัฐบาล มาถึงจุดนี้ดูเหมือนว่า พรรคร่วมรัฐบาลต่างๆไม่ยอมให้แตะโควต้ารัฐมนตรีในส่วนของพรรค ซึ่งมีกระทรวงเศรษฐกิจที่ดูแลอยู่ นั่นก็หมายความว่า พรรคพลังประชารัฐจะทำได้เพียงสลับเก้าอี้ในพรรคของตัวเอง ดัที่มีข่าวว่าจะสลับกันระหว่าง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในขณะที่ภายในพรรคพลังประชารัฐเอง ก็มีกลุ่มก๊กต่างๆ มุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ ทั้งกลุ่มสามมิตร ของ 3 ส. สุริยะ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และสมศักดิ์ เทพสุทิน กลุ่มชลบุรี ของ “เสี่ยเฮ้ง” ที่จับมือกับกลุ่มโคราชของ วิรัช รัตนเศรษฐ กลุ่มของธรรมนัส ที่มีร.อ.ธรรมนัส เป็นแกนนำ กลุ่มกทม. หรืออดีตกปปส. มี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นแกนนำ และการผนึกกันของ สนธิรัตน์ กับอีก 3 กุมาร อุตตม สาวนายน สุวิทย์ เมษินทรีย์ และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ดูเหมือนว่ากลุ่มหลังนี้จะตกเป็นเป้าในการถูกเลื่อยขาเก้าอี้ อย่างไรก็ตาม หากการปรับครม.ทำได้เพียงเท่านี้ ก็จะเป็นเพียงการปรับเล็ก ไม่ใช่ปรับใหญ่ ก็จะมีคำถามตามมาว่า จะปรับเพื่ออะไร? เพราะแทบไม่เกิดประโยชน์ หรือส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พลิกโฉมเรียกความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจกลับคืนมาได้ หากเป็นเช่นนั้นเสียง “ยี้” ก็จะตามมา แรงเสียดทานย่อมจะถาโถม เติมฟืนใส่ไฟ เร้าให้เกมนอกสภาฯ ขยายวงจากเดิม นั่นจึงทำให้ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการโยนหินถามทาง ถึงกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งนั่นหมายถึง “บิ๊กตู่”จะต้องเปิดทางด้วยการลาออก เพื่อให้มีการ “ล้างไพ่” จัดตั้งรัฐบาลกันใหม่ โดยมีชื่อของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ออกมาทั้ง “คนนอก” ที่เป็นองคมนตรี และ “คนใน” จากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล สอดรับกับข่าวความเคลื่อนไหวของคนแดนไกล ที่สะพัดออกมาว่า ทักษิณ ชินวัตร มีแพลนี่จะเชิญสื่อทุกสำนักในประเทศไทยยกคณะไปดูไบ เพื่อเป็นสักขีพยานในการประกาศจุดยืน ล้างมือในอ่างทองคำ เลิกยุ่งการเมือง โดจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เขาพูดและส่งสัญญาณผ่านคนใกล้ชิดมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ครั้งนี้จะเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการ ที่เขาจะไม่เข้าไปยุ่งการเมือง และพรรคเพื่อไทยอีก ทว่าติดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เสียก่อน จึงทำให้แผนการณ์หยุดชะงักลง กระนั้น ก่อนหน้านี้ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับเอาพรรคเพื่อไทย เข้ามาร่วมรัฐบาลมีการส่งสัญญาณมาตั้งแต่ก่อนศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจะอุบัติขึ้น แม้จะถูกตีความเป็นเพียงแค่สัญญาณ “ขู่” เพื่อดูพฤติกรรมของส.ส.ไม่ให้แตกแถวในการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรี ทว่าบริบทการเมืองต่างๆ กลับเป็นปัจจัยเอื้อให้ข่าวที่ออกมาใกล้เคียงกับความเป็นจริงและแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ จากท่าทีของพรรคเพื่อไทย ที่มีพฤติกรรมแปล่งแปลกจนเกิดรอยร้าวกับส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ กรณีอภิปรายเกินเวลาจนเพื่อนส.ส.อีก 4 คนที่เตรียมอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีอันต้องชวดไป และล่าสุดการออกมาวิพากษ์เศรษฐกิจของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือ “ดร.โกร่ง”ที่เดินสายถี่ยิบในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการไปเปิดหน้าที่พรรคเพื่อไทย ก็ทำให้ถูกมองว่าเป็นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ของว่าที่รัฐมนตรีที่จะเข้ามาดูแลด้านเศรษฐกิจคนใหม่ ในโควต้าของพรรคเพื่อไทย จากภาพนี้ ก็อาจเข้าใจได้ว่า พญางูเห่าในพรรคฝ่ายค้าน หรืออนาคอนด้าที่แท้จริงแล้ว กดรีโมตสั่งการมาจากดูไบ และเมื่อต่อจิ๊กซอว์ ระหว่าง “ทักษิณล้างมือ” กับ “บิ๊กตู่ล้างไพ่” การเมืองไทยก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ทั้งหมดทั้งมวลสูตรนี้ ยังต้องจับตาแนวต้านของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย ที่คงไม่ยอมกอดคอกันเป็นฝ่ายค้านง่ายๆ กระนั้นน่าจับตา กับจังหวะก้าวของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไม่ยอมอยู่เฉยๆ เดินเกมบล็อกฝ่ายค้าน 6 พรรคจัดดินเนอร์สมานฉันท์ พร้อมขายฝันเลือกตั้งครั้งหน้า เป็นรัฐบาลร่วมกัน ท่ามกลางกระแสข่าวยุบสภา และนายกฯลาออก จะเป็นจุดหักเหการเมืองไทย หรือเป็นเพียงความพยายามที่สูญเปล่าเหมือนรอยเท้าบนผืนทราย