ปากกาขนนก / สกุล บุณยทัต “ ในหัวใจแห่งเนื้อหาในการผลิตวรรณกรรม ไม่ว่าจะเป็นในประเภทใดหรือรูปลักษณ์ใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีวัตถุดิบอันเป็นต้นเค้าของงานเขียน ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตีประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ สร้างความหมาย และนำเสนอต่อผู้อ่านในหลายต่อหลายสิ่ง หลายต่อหลายแง่มุม นับแต่...เรื่องราวแห่งสภาวการณ์ของสังคม/ชีวประวัติของใครคนใดคนหนึ่ง/หลายๆบทตอนในความเกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติของโลกกว้าง/การสืบสานสาระความคิดจากกระบวนวรรณกรรม/ผลผลิตดั้งเดิมแห่งตำนานนิทานพื้นบ้าน/ภาพสะท้อนแห่งวิถีทางการเมืองการปกครอง/หรือ..ตลอดจนนัยทางศาสนา ความเชื่อ และปรัชญาเชิงศีลธรรมที่ไม่ค่อยมีใครเคยกล่าวถึง...” วัตถุดิบอันเป็นต้นเค้าดังกล่าวนี้ ถูกเลือกสรร และนำมาจัดแต่งแบ่งแยกกันออกไปตามแนวคิด ความเชื่อมั่นแห่งจินตนาการ และประสบการณ์ชีวิตที่เชื่อมโยงระหว่างกันในสำนึก และภาวะโอกาสของนักเขียนในแต่ละคน/..อย่างไรก็ดี..ในส่วนเฉพาะของวรรณกรรมไทยนั้น มีข้อสังเกตอยู่ประการหนึ่งว่า..วรรรกรรมของนักเขียนไทยนับแต่หลังเหตุการณ์ “6 ตุลาคม2519” สืบมาจนถึงทุกวันนี้/ ต้นเค้าของการผลิต เหมือนจะหลีกเลี่ยงการหยิบยกเอาวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาขึ้นมาเขียน โดยเฉพาะองค์ประกอบในทุกส่วนของศาสนาประจำชาติ ซึ่งถ้าหากจะนับย้อนไปถึงช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา งานเขียนที่ถือกำเนิดจากต้นเค้าดังกล่าวในส่วนเฉพาะของเรื่องสั้น ก็เห็นจะมีเพียงเรื่องสั้นในชุด “จีวรสีดำ” เมื่อราวปลายทศวรรษแห่ง พ.ศ.2510/งานเขียนในชุด “คนสีเหลือง” ของ “นิเวศน์ กันไทยราษฎร์” ในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ย/รวมทั้งเรื่องสั้น “ชายผ้าเหลือง” ของ “ศรีดาวเรือง” นักเขียนหญิงที่เกรียวกราวในห้วงขณะเดียวกัน/ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น/บรรดาเรื่องสั้นที่ได้กล่าวถึงมาทั้งหมดก็เป็นเพียงแค่การสะท้อนภาพเหมือน หรือสถานการณ์อันเกิดแต่ปฏิปทาอันผิดแผกไปจากวัตรปฏิบัติของสงฆ์ที่จะเป็นไปในเชิงรูปธรรมเท่านั้น หาได้มีการตั้งข้อสังเกตหรือสร้างเรื่องที่หยิบประเด็นสาระทางปรัชญาที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาเชิงนามธรรมขึ้นมาถกเถียงตีความหรือวิพากษ์วิจารณ์ด้วยลักษณะของการใช้เหตุผลและความคิด ขึ้นเป็นข้อคิดพิจารณาแต่อย่างใดไม่.. สาเหตุสำคัญในกรณีดังกล่าวนี้..ก็คงนับเนื่องมาแต่ข้อห้ามแห่งจารีตอันจำกัด ที่ได้รับการสอนสั่งกันมาช้านาน โดยการผูกขาดเน้นย้ำ ให้ต้องยกย่องสถาบันทางศาสนาเป็นสถาบันแห่งการ(ต้อง)ยอมรับนับถือ...หนึ่งในสามของชาติที่ไม่อาจแตะต้อง และล่วงละเมิด ในเชิงปฏิเสธหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆในทุกๆมิติทางด้านความคิด ภาวการณ์แห่งความ “ต้องห้าม” ดังกล่าวนี้..จึงเป็นเหมือน “ทาบเงา” ที่บดบังวิถีทางและความตั้งใจแห่งการผลิตวรรณกรรมของไทยในประเด็นแห่งแง่มุมสำคัญแง่มุมหนึ่งไปอย่างน่าเสียดายมาโดยตลอด/ทั้งๆที่จุดเริ่มต้นแห่งวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยอันมีพื้นฐานมาจากชาติทางตะวันตกนั้น ก็ได้เริ่มต้นขึ้นมาด้วยเรื่องราวของ”สงฆ์..”/...เรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาแห่งโลกอันสำคัญของเราโดยแท้... “มัทรี”..นับเป็นเรื่องสั้นแห่งยุคสมัยในไม่กี่เรื่อง หรืออาจจะเป็นเรื่องสั้นเพียงเรื่องเดียวในห้วงเวลาสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา..ที่ผู้เขียนกล้าหาญในการหยิบยกประเด็นสาระอันเป็นปัญหาทางศาสนา..ประเด็นสาระในเชิงนามธรรมของสถาบันศาสนา ที่ไม่ค่อยมีใครอยากแตะต้องวิพากษ์วิจารณ์มาตีแผ่..ตีความ และนำเสนอด้วยแง่คิด และการตั้งข้อสังเกตในลักษณะอันเป็นข้อถกเถียงที่จริงจัง..อย่างตรงไปตรงมายิ่ง นี่คือเรื่องสั้นที่เป็นภาพแสดงของ ชีวิตผู้หญิงลูก3วัย19ปีที่ “ศรีดาวเรือง” เขียนถึงอย่างเปิดเปลือยและถึงแก่นแห่งเจตจำนงและสำนึกคิด/...แท้จริง มันเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำๆซากๆ..ที่พอมาถึงวันนี้ก็ดูเหมือนจะผ่านเข้าไปสู่การเป็นส่วนร่วมในการรับรู้ของผู้คน จนเกือบจะกลายเป็นความชาชินที่ไร้ค่าความหมายไปเสียแล้ว/ข่าวคราวเกี่ยวกับ “แม่ใจยักษ์”/ที่เคยเป็นหัวข้อข่าวพาดหัวตัวโตบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือ การโปรยหัวข้อข่าวอันน่าตื่นตาตื่นใจทางโทรทัศน์หรือวิทยุเกี่ยวกับทารกแรกเกิด..ที่ถูกทิ้งขว้างไว้ตามถังขยะข้างทาง/ล้วนเคยเป็นความดาษดื่นทางความรู้สึกที่ตื่นตระหนกเมื่อในอดีต/กระทั่งได้กลายเป็นความคุ้นชินที่ไร้ความรู้สึกสื่อสัมพันธ์ใดๆในวันนี้ /นับเป็นบาดแผลฉกรรจ์ของสังคม/ที่เหยียบย่ำอำนาจบารมีแห่งจิตวิญญาณทางศาสนาไปอย่างไม่หวั่นกลัวต่อคำสาปแช่ง “ผู้หญิง..อันเป็นตัวละครในเรื่องสั้น มัทรี” ถูกสามีที่ “ไปหลง... ห... ใหม่” ตามท้องเรื่องทอดทิ้งไว้กับลูกสามคนอย่างสิ้นเยื่อใย..เหตุนี้ ทำให้หล่อนเกิดความคิดเชิงย้อนกลับที่เจ็บปวด “เมื่อสามีตัดหล่อนและลูกไปได้”..หล่อนก็สามารถที่จะสลัด...สละ และละทิ้ง “ลูกน้อยอันเป็นที่รัก” ของหล่อนไปได้เช่นกัน แต่การ ตัดใจละทิ้งของหล่อน..มีเหตุผลในเชิงที่เหมือนจะดีงามรองรับ “ ชั้นไม่ได้ทิ้งเพราะจะมีผัวใหม่นี่...” ชั้นจะบวชชี...” นี่เป็นข้อแก้ตัว ที่สวนทางกับสำนึก สวนทางกับความรู้สึกในแง่ของศีลธรรมอย่างรุนแรงที่สุด..ตำรวจผู้ที่จับหล่อนมาในข้อหา “เจตนาทิ้งลูก...และไม่ยอมให้ความดูแล” ที่ป้ายรถเมล์ข้างถนนก่อนหน้านั้น เปรียบเหมือน ตัวแทนของผู้คนในความรู้สึกเก่า/ความรู้สึกที่ชั่งด้วยเหตุผลได้ แต่ยอมรับไม่ได้... “ถ้าไม่ต้องการลูกแล้วมีขึ้นมาทำไม ขอโทษนะ..หมามันยังรักลูกของมันเลย” “แล้วทีพ่อของมันล่ะ..ทำไมไม่ตามไปจับมาด้วย ถ้าลงชั้นผิด พ่อมันก็ต้องผิดมากกว่า เพราะมันเป็นคนทำ” ข้อโต้แย้งของบุคคลทั้งสองเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างเหตุผลทางศีลธรรมกับความจำเป็นในการมีชีวิตรอด ..ซึ่งในยุคหนึ่งนั้นเหตุผลมีความสำคัญ แต่ความสำคัญของเหตุผลนั้นๆก็อยู่ที่เงื่อนไขปัจจัยที่จะมารองรับ และต้องเป็นเงื่อนไขปัจจัยที่จะมารองรับโดยปราศจากข้อโต้แย้งโดยสิ้นเชิง “ก็มีเพียง..ข้อกล่าวอ้างทางศีลธรรมอันถือเป็นจารีตประเพณีดั้งเดิมที่สุด ที่ต้องยอมรับไว้ แม้จะไม่เห็นด้วยเลยก็ตาม” “ศรีดาวเรือง”..ได้สร้างปมกระทบอันเป็นที่สุดของความคิด ในช่วงของบทสนทนาในตอนท้ายเรื่อง ระหว่างตัวเอกทั้งสอง...บทสนทนาในช่วงตอนนี้เป็นเหมือน “สงครามความคิด” ..เป็นเหมือนการต่อสู้แห่งสำนึกถูกผิดระหว่างกัน..ที่ต้องมีผู้ชนะ.. “ให้หนูไปบวชเถอะ...” * “เล่นเอาตัวรอดง่ายๆยังงี้เอง คนอะไรไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม” “คนเขาบวชกันเยอะแยะ..ทำไมไม่มีใครว่า” * “ก็นั่นเขาไม่มีห่วง เขาไม่ได้ปัดสวะให้พ้นตัวอย่างเรา /นี่มีที่ไหนกัน...จะทิ้งลูกไปบวช พูดง่ายๆ...จะหนีความรับผิดชอบโดยใช้ศาสนาบังหน้า..ว่างั้นเถอะ/...ถ้าลูกมันเต็มอกเต็มใจไปทุกข์ยากอยู่ข้างถนน แล้วจะแสดงว่า แม่มันตัดกิเลสได้งั้นรึ” “แล้วทีผู้ชายทำไมทำได้ “ * “ใครเขาทำกันยังงั้น..หา...” “ก็...พระเวสสันดรไง” นายตำรวจใหญ่ของเรางง เขาไม่แน่ใจว่าหล่อนพูดเรื่องอะไร ...ตัวเขาก้มลงเขียนอะไรบางอย่างบนกระดาษอย่างเงียบๆ แล้วเรียกผู้ใต้บังคับบัญชาให้เข้ามา * “เอาหนังสือกับผู้ต้องหาไปส่งหมอ ..ได้ผลยังไงแล้วเอากลับมารายงานอั๊ว” ........................ ภาพสะท้อนอันเป็นผลรวมของเหตุการณ์และความคิดที่ยกมาแสดงให้เห็นในส่วนนี้..มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ตอบคำถามของมันในทันทีทันใดไม่ได้ การกล่าวอ้างถึง.. “พระเวสสันดร” ผู้บำเพ็ญทานบารมีในพระชาติสุดท้าย ก่อนจะมาสู่ความเป็นพระศาสดานั้น...เป็นปมกระทบแห่งจิตใจที่สำคัญยิ่ง มีหลายต่อหลายเหตุการณ์แห่งบุคคลที่ดำเนินตามรอยศรัทธาแห่งการบำเพ็ญทานบารมีนี้..แต่บุคคลเหล่านั้นส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย หลายต่อหลายคนสละลูกเมียโกนหัวเข้าวัด ด้วยว่าซาบซึ้งในรสพระธรรม และได้รับการอนุโมทนาสาธุ/หลายต่อหลายคนเกษียณตัวเองและหนีความวุ่นวายทั้งหลายด้วยการ “ห่มผ้าเหลือง” และได้รับความสุขสงบไปตามสถานะ/..และต่อมา เมื่อสิทธิอะไรต่อมิอะไรก้าวหน้าขึ้น ผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวย เกิดเบื่อหน่ายชีวิตตลอดจนความร่ำรวยของตัวเอง กระทั่งเกิดเหตุพลั้งพลาดเพราะไป “รักผัวเขา” ขึ้นมา/ก็พากันหันหน้าแห่กันไป “บวชชี” จนกลับกลายเป็นแฟชั่นยอดนิยม ด้วยอ้างว่าเพื่อ “ความสุขสงบแห่งจิตใจ” ไปเสียแล้วจนมากต่อมาก แต่ในมุมกลับกัน..ตัวเอกในเรื่องสั้น “มัทรี” นี้กลับ เป็นผู้หญิงที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร/หล่อนมีสถานะที่ยากจนคับแค้น/และดูเหมือนจะถูกเหยียบย่ำจากความเป็นโลกโดยนัย/..ข้อเปรียบเทียบอันเป็นข้ออ้างแห่งเหตุผลของหล่อน ในการจะออกบวชนั้น ดูเหมือนจะไม่ต่างไปจากเหตุผลของผู้หญิงร่ำรวยที่ได้กล่าวถึงไปแล้วสักเท่าใดนัก นั่นคือการเบื่อหน่าย และแหนงหน่ายในชีวิต “ศรีดาวเรือง” ได้สร้างตัวละครเอกแห่งเรื่องสั้นของเธอ..ในลักษณะของ “คนไม่เอาไหน” ...คนไม่เอาการเอางาน คนที่ไม่รับผิดชอบ และ” เป็นผู้หญิงเหลวไหลที่มีลูกได้ยังไงตั้ง3คน ทั้งๆที่มีอายุได้เพียงแค่ 19 ปี” ภูมิหลังของผู้หญิงในฐานะตัวละครตัวนี้/จึงดูเหมือนจะไม่ดีงามเอาเสียเลย หากจะพินิจกันอย่างผิวเผินเพียงชั้นเดียว แต่ทว่าลึกลงไปในห้วงสำนึก..ภาวะที่เป็นจริงแห่งสังคมที่เรามีชีวิตอยู่ร่วมกันในวันนี้/อะไรหรือสิ่งใดเล่า..ที่ทำให้หล่อนต้องทำเช่นนั้น /ความเหลื่อมล้ำกันในฐานะทางสังคมที่ไม่รู้ว่าต้นตอมาจากไหนนั้นต่างหาก ที่นำพาความคิดของหล่อนไปสู่มุมอับแห่งหลุมดำที่มีการโต้แย้ง/ ประเด็นความคิดโดยรวมที่ “ศรีดาวเรือง” นำเอาข้อแตกต่างทางความรู้สึกแห่งจิตใจที่ห่างไกลกันอย่างสุดโต่งนี้มาเปรียบเทียบกัน/ส่งผลให้เรื่องสั้น “มัทรี” โดดเด่นขึ้นมา...กระทั่งกลายเป็นผลงานแห่งคุณค่าและความงามทางจิตสำนึกต่อผู้หญิงที่ไร้กาลเวลา/เป็นหมุดหมายแห่งวรรณกรรมที่สร้างแรงกระทบต่อรากเหง้าทางจิตวิญญาณแห่งยุคสมัยที่ซ่อนเร้น ซึ่งรอคอยต่อการเปิดโปงและเบิกประจานอย่างหนักแน่นและจริงจัง เนื่องในวาระแห่งวัน “สตรีสากล...8 มีนาคม” ..ที่เวียนรอบกลับมาอีกครั้งหนึ่ง..ท่ามกลางหายนะแห่งฝุ่นผงอันก่อเกิดโรคภัยที่ร้อนร้าย/และท่ามกลางความขัดแย้งในวิกฤติการเมืองของประเทศอันสับสน ไร้หวัง และมืดดำ/ ผมคิดถึงเรื่องสั้นเรื่องนี้มาอย่างผูกพันอีกครั้ง/ และก็หวังเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยมว่า...เมื่อใครก็ตามได้อ่านเรื่องสั้น “มัทรี” เรื่องนี้จบลง...ยังไงเสีย “ผู้ที่เดินตามรอย” และ “ผู้ที่เกี่ยวเนื่อง” ทั้งหลายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ก็คงจะไม่เคราะห์หามยามร้ายเกินไป ที่จะต้องถูกจับและนำส่งหมอ เหมือนดั่ง “หล่อน” ผู้ตัดใจสละลูกน้อยเพื่อบวชชีตามแนวทางทานบารมี...ที่ “ศรีดาวเรือง” ได้ว่าไว้..คนนี้... “ดูกรเจ้ามัทรี ..อันสองกุมารนี้ พี่ให้เป็นทานแด่วันวานนี้แล้ว พระน้องแก้วเจ้าอย่าโศกศัลย์ ..จงตั้งจิตของเจ้านั้นให้โสมนัส ศรัทธาในทานอันก่อกฤดาภินิหารทานบารมี”