ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ในขณะที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับการทำสงครามกับโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีหลายฝ่ายอ้างว่าเป็นการก่อการร้ายทางเชื้อโรค โดยมหาอำนาจ ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตว่าสงครามเชื้อโรคควบคุมไม่ได้ และอาจย้อนมาทำลายผู้เริ่มสงครามได้ อย่างไรก็ตามโรคระบาดก็ระบาดไป แต่การรบพุ่งในตะวันออกกลางก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติ และยังปะทุรุนแรงขึ้น ขณะที่ปรากฏว่าได้พบผู้ป่วยโควิด-19 บ้างแล้วในอิรัก ซึ่งโอกาสที่จะแพร่กระจายและระบาดในภูมิภาคมีสูงเพราะในสภาพการรบพุ่งการควบคุมโรคเป็นไปได้ยากลำบาก ประกอบกับมีผู้ลี้ภัยอีกจำนวนมากตามแคมป์ต่างๆก็อาจติดโรคและเป็นพาหนะไปยังที่ต่างๆได้ ศึกอิดลิบได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นและอาจกลายเป็นสงครามระหว่างตุรกี-ซีเรีย ซึ่งต่างก็มีผู้หนุนหลังที่สำคัญนั่นคือ ซีเรีย มีอิหร่าน รัสเซีย และจีนหนุนหลัง ส่วนตุรกีมีอิสราเอล ซึ่งนั่นคือสหรัฐฯหนุนหลัง นอกจากนี้ตุรกียังเป็นสมาชิกนาโตนั่นคือยุโรปตะวันตกทั้งหมด และตะวันออกบางส่วน แม้นาโตจะยังไม่มีการสนับสนุนอย่างจริงจังแบบเปิดเผยแต่อาจมีการช่วยแบบลับก็ได้ ก่อนพูดถึงศึกอิดลิบมาทำความเข้าใจคร่าวๆ เกี่ยวกับที่ตั้งของซีเรีย เพื่อจะได้เห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจนขึ้น ซีเรียเป็นประเทศในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ มีพรมแดนทิศตะวันตกจดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศเหนือจดประเทศตุรกี ทิศตะวันออกจดประเทศอิรัก ทิศใต้จดประเทศจอร์แดน ทิศตะวันตกเฉียงใต้จดประเทศอิสราเอล และเมืองหลวงคือดามัสกัส ส่วนเมืองอิดลิบนั้นเป็นเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ติดชายแดนของตุรกีทางภาคใต้เช่นกัน อิดลิบอยู่ห่างอเลปโปที่เป็นเมืองใหญ่และมีบ่อน้ำมันเพียง 59 กม. ทางตะวันตกเฉียงใต้ และมีถนนตัดตรงไปเมืองหลวงดามัสกัส ดังนั้นอิดลิบจึงถือเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ทางซีเรียก็ต้องพยายามยึดคืนจากฝ่ายกบฏให้ได้ ขณะที่ตุรกีก็ต้องการปกป้องเมืองนี้จากซีเรีย เพื่อเข้าทำการปราบปรามพวกกบฏเคิร์ดที่เคลื่อนไหวในบริเวณนี้ และเป็นภัยคุกคามตุรกีในเขตตะวันตกเฉียงใต้ ตุรกีจึงสนับสนุนฝ่ายกบฏที่ยึดครองเมืองนี้และผสมผสานกับพวกผู้ก่อการร้ายไอเอส-ตักฟีรี กับ อัลกออิดะฮ์ ที่มีอเมริกาสนับสนุน แต่สหรัฐฯก็สนับสนุนกองกำลังเคิร์ดด้วย แม้ระยะหลังจะเพลาๆลงไป ครั้นรัฐบาลซีเรียรุกคืบหน้าเข้ามาในบริเวณนี้เพื่อยึดคืนพื้นที่ของตน ตุรกีที่เคยส่งทหารเข้าไปเคลียร์ชายแดน ตุรกี-ซีเรีย และประกาศเป็นเขตห้ามยกระดับความรุนแรง หรือกึ่งๆเขตปลอดทหาร ในดินแดนซีเรียตลอดแนวลึก 20 กิโลเมตร ซึ่งตุรกีอ้างว่าได้ทำการตกลงกับรัสเซียและอิหร่าน โดยที่ยังไม่มีใครภายนอกได้เห็นรายละเอียดของข้อตกลงทั้งหมด อย่างไรก็ตามรัฐบาลซีเรียไม่ยอมรับข้อตกลงนี้ เพราะมันเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศของตน จึงเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขนาดมีการสู้รบ ทิ้งระเบิดใช้ปืนใหญ่ถล่ม และการเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่ทั้งฝ่ายซีเรีย และตุรกีซึ่งเคลื่อนกองกำลังรถถังเข้าไปหลายสิบคัน ท่ามกลางการโจมตีทางอากาศของรัสเซียต่อกลุ่มกบฏ ผู้ก่อการร้าย แต่แน่นอนมีผลทำให้ทหารตุรกีที่อยู่ในบริเวณนั้นบาดเจ็บล้มตาย คือ เสียชีวิต 33 อีก 30 เศษบาดเจ็บ ตุรกีจึงตอบโต้ ท่ามกลางความขัดแย้งนี้ตุรกีประกาศว่าตนมิได้เป็นศัตรูกับรัสเซีย แต่มีปัญหากับรัฐบาลซีเรีย จึงต้องการให้รัสเซียยุติการสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย รัสเซียและตุรกีจึงพยายามหาทางประนีประนอม โดยปูตินได้ต่อสายตรงคุยกับแอร์โดกัน และยังส่งทีมจากมอสโกไปคุยกับทีมตุรกีที่อังการา แต่แล้วก็ต้องบินกลับกะทันหัน หลังจากนั้นตุรกีก็ประกาศว่าให้ทหารซีเรียถอนกำลังกลับไปยังที่ตั้งเดิม โดยอ้างข้อตกลงโซชิ แต่รัสเซียก็อ้างว่าตนเองก็มีความรับผิดชอบตามข้อตกลงนั้นที่จะสนับสนุนและปกป้องรัฐบาลซีเรีย กำจัดผู้ก่อการร้ายและกบฏในเขตอิดลิบ นอกจากนี้ข้อตกลงโซชิ รัสเซีย-ตุรกี ตกลงกันในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ถึงการร่วมกำจัดผู้ก่อการร้ายในซีเรีย และยังมีข้อตกลงที่ครอบคลุมไปถึงการแก้ปัญหา Rozhava-Syrian Kurdistan ด้วย ในทางปฏิบัติตามข้อตกลงนี้จะมีการประสานงานเป็นจุดต่อจุดกับรัฐบาลซีเรีย และให้ตุรกีมีจุดสังเกตการณ์หลายจุดในเขตอิดลิบ ตุรกียอมรับให้รัสเซียได้ตรวจสอบและค้นหาผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะฮ์และไอเอสในอิดลิบ รวมทั้งการเดินทางอย่างเสรีของประชาชนตามถนนหลวง M4 และ M5 ที่จะไปยังอเลปโปและดามัสกัส ส่วนตุรกีก็ต้องการเข้าไป มีที่ตั้งทางทหารในอิดลิบเพื่อควบคุมให้เป็นไปตามข้อตกลง เพื่อให้เข้าใจเหตุผลว่ามันเกิดอะไรขึ้น จึงต้องทำความเข้าใจถึงข้อตกลงโซชิรัสเซีย-ตุรกี ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าตุรกีได้ละเมิดข้อตกลงหลายครั้ง ข้อแรก อาวุธหนักทั้งหลายที่เกิน 57 มิลลิเมตรต้องถอนออกไปจากเขตห้ามยกระดับความรุนแรง 20 กม. ในเขตอิดลิบภายในวันที่ 20 ต.ค. 2018 ซึ่งอาวุธเหล่านี้ไม่นับรวมจรวดต่อต้านรถถัง RPG แต่หมายถึงปืนใหญ่และปีนครก แม้จะไม่ได้มีข้อตกลงชัดเจนว่าต้องการสร้างเขตปลอดทหารแต่ก็ให้พยายามลดจำนวนอาวุธลงในบริเวณนั้น ซึ่งตุรกีมิได้ดำเนินการอย่างจริงจัง นอกจากนี้สิ่งที่ตุรกียังมิได้ดำเนินการให้สำเร็จคือการขจัดพวกก่อความรุนแรงออกไปจากเขตลดความรุนแรง (De-Escalation Zone) ภายในวันที่ 15 ตุลาคมปีที่แล้ว นั่นหมายถึงกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เช่น การสะสมกำลังของกลุ่ม Hayat Tahrir Al-Sham และ กลุ่ม Huras Ad-Din และในเขตดังกล่าวควรจะมีแต่กลุ่มที่ไม่ใช่พวกก่อการร้าย แต่ตุรกีก็ไม่สามารถทำให้บรรลุตามข้อตกลงเลย รวมทั้งประการต่อมาที่ไม่สามารถทำให้ทางหลวง M4 และ M5 เปิดการจราจรได้โดยปลอดภัยตามข้อตกลง ในทางตรงข้ามตุรกีกลับส่งกำลังทหารเข้าไปปกป้องกลุ่มกบฎและผู้ก่อการร้ายที่ทำการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาลซีเรีย ฝ่ายตุรกียังกล่าวหารัสเซียว่ามิได้ควบคุมรัฐบาลซีเรียไม่ให้บุกรุกขยายเขตในอิดลิบ แต่ทางรัสเซียก็โต้แย้งว่าปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลซีเรียเป็นการตอบโต้การโจมตีของกลุ่มกบฏและผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในเขตที่ตุรกีดูแล ตามข้อตกลงข้อที่ 10 ของโซชิมันเป็นหน้าที่ของทั้งรัสเซียและตุรกีที่จะต้องต่อต้านผู้ก่อการร้าย ซึ่งแน่นอนย่อมรวมถึง Hayat Tahrir Al-Sham แต่ตุรกีกลับส่งอาวุธสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายแทนการหยุดยั้งตามข้อตกลง มิหนำซ้ำกองกำลังทหารที่สนับสนุนโดยตุรกียังมีทั้งโดรนและปืนใหญ่รุ่นใหม่ๆ อย่างไรก็ตามก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าตุรกีต้องการแก้ปัญหากบฏเคิร์ดที่มาก่อการในดินแดนตุรกีจากซีเรีย แต่รัฐบาลซีเรียก็ต้องการยึดคืนพื้นที่เพื่อตัดการส่งอาวุธจากภายนอกให้กลุ่มกบฏที่พยายามล้มรัฐบาล การรบในพื้นที่เหล่านี้จึงอาจขยายตัวไปสู่สงครามตัวแทนระหว่างมหาอำนาจ ที่มีตุรกีและซีเรียออกหน้า และมีอิสราเอลคอยตลบหลังซีเรีย ส่วนตุรกีก็ขู่ว่าจะส่งผู้อพยพ 3.5 ล้าน ที่ตนต้องดูแลโดยยุโรปไม่เคยรักษาสัญญาจะให้เงินช่วยเหลือ นั่นก็จะเป็นสัญญาณของการล้มตายของผู้บริสุทธิ์ที่ต้องร่อนเร่ และได้รับการต่อต้านจากประเทศในยุโรป อีกเป็นจำนวนมาก น่าอนาถจริงๆ ประเทศไทยคงไม่อยากเป็นแบบนี้ ดังนั้นจึงควรหยุดเติมเชื้อไฟกันได้แล้ว