คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ” นักศึกษาวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับ 3 รางวัล จากการส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์เข้าร่วมประกวดโครงการ Thailand New Gen Inventors Award (I - New Gen Award 2020) ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2563 (Thailand Inventors’ Day 2020) ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) น.ส.รุ่งนภา งามกระจ่าง (นิว) และน.ส.ปิยวรรณ ทรายทอง (เจเจ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต รางวัลเหรียญทอง ทีมที่ 1 ผลงานเรื่อง เครื่องเตือนการรั่วซึมของเลือดที่สายส่งเลือดจากเครื่องไตเทียมเข้าสู่ผู้ป่วย กล่าวถึงผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ว่า สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ฟอกไตได้ โดยสามารถวัดการรั่วซึมของเลือดที่สายส่งเลือดจากเครื่องไตเทียมเข้าสู่ผู้ป่วยได้ ซึ่งเครื่องดังกล่าวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความถูกต้องแม่นยำ “การคิดค้นผลงานดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือระหว่างอาจารย์ที่ปรึกษากับนพ.สมชัย ชีวิน์ศิริวัฒน์ มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์ ซึ่งพบว่าเครื่องฟอกไตในปัจจุบันนั้น จะไม่มีการแจ้งเตือนหากสายส่งเลือดหลุดหรือเกิดการรั่วซึมของเลือดออกมาที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยจนถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้ ทำให้เป็นภาระของบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยของศูนย์ฟอกไต ทั้งนี้ ประโยชน์ของการใช้เครื่องเตือนการรั่วซึมฯ ระหว่างใช้งาน หากมีการรั่วซึมของเลือด เครื่องจะแจ้งเตือนออกมาเป็นเสียงและแสงได้ในช่วงเวลา 3-8 วินาที ทำให้พยาบาลสามารถมาดูแลผู้ป่วยได้ทันที สำหรับเครื่องนี้เราได้มีการคิดค้นและพัฒนาต่อจากรุ่นที่ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว โดยได้มีการทดลองกับผู้ป่วยจริง ทั้งนี้ อาจารย์ที่ปรึกษามีส่วนช่วยในการให้ข้อมูล ควบคุมดูแลให้คำปรึกษา โดยส่วนตัวรู้สึกดีใจที่เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยร่วมส่งผลงานเข้าประกวด ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ของรุ่นพี่และนำไปพัฒนาต่อยอดได้ด้วยค่ะ” น.ส.รุ่งนภา กล่าว สำหรับทีมที่ 2 ได้แก่ ผลงานเรื่องเครื่องตรวจการได้ยินโดยใช้โปรแกรม labVIEW ได้รับรางวัลเหรียญทอง โดยนายภูริวัฒน์ อนันต์ปฏิเวธ (เชน) และนายอธิป สุจริตธรรม (ริว) กล่าวถึงที่มาของผลงานดังกล่าวว่า จากการที่โลกของเรากำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น เมื่อผู้สูงอายุเยอะขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องของการได้ยิน จึงต้องมีการตรวจวัดการได้ยิน แต่การตรวจวัดการได้ยินในปัจจุบัน ต้องใช้เครื่องตรวจวัดการได้ยินที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง เราจึงได้คิดค้น Audio Meter by using labVIEW Program หรือเครื่องตรวจวัดการได้ยินโดยใช้โปรแกรม labVIEW เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเครื่องมือจากต่างประเทศ สะดวกต่อการใช้งาน และมีมาตรฐานเทียบเท่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ หลักการทำงานของเครื่องดังกล่าวจะแตกต่างจากเครื่องตรวจวัดการได้ยินปกติตรงที่ตัวเครื่องของเราเน้นไปทางซอฟต์แวร์ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการทดสอบ แต่เครื่องตรวจการได้ยินปกติทั่วไปจะพกพาไม่สะดวก ทั้งนี้ เราได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการปรับปรุงก่อนที่จะทำจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ต่อไป “สำหรับการส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่เมื่อได้รางวัลมาก็รู้สึกภูมิใจและดีใจ อีกทั้งยังเป็นการทำให้วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นที่รู้จักและคนภายนอกเห็นความสามารถในการคิดค้นงานวิจัยเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันครับ” นายภูริวัฒน์ กล่าว ด้านนายสุริยา ทองวรรณ (ตาล) และน.ส.วราภรณ์ มงคลกาย (แพน) ทีมที่ 3 เจ้าของรางวัลเหรียญเงิน กล่าวถึงผลงานเรื่องเครื่องตรวจวัดการทรงตัวให้สมดุลในท่านั่งของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกว่า เป็นผลงานที่ช่วยบำบัดผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก โดยใช้หลักการวัดแรงกดจากการนั่งที่บริเวณเบาะ ประมวลผลด้วยไมโครคอนโทรเลอร์ ซึ่งหากพบความไม่สมดุลในท่านั่ง จะส่งค่าผ่านบลูทูธไปที่แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน หลังจากนั้นแอพพลิเคชั่นเตือนผู้ป่วยใช้กล้ามเนื้อหลังส่วนล่างให้กลับมาในท่าที่สมดุล แล้วบันทึกค่าการฝึกแต่ละครั้งใน Google Sheet ทั้งนี้ ผลงานดังกล่าวสามารถลดความผิดพลาดจากการประเมินทางคลินิก ลดความเสี่ยงต่อการหกล้มกระดูกสันหลังคด ช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคอัมพาตครึ่งซีกให้กลับมาใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถนำไปฝึกใช้ที่บ้านได้ “สำหรับผลงานนี้ทำร่วมกับรุ่นพี่ปี 4 ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัล และหลังจากนี้จะมีการพัฒนาต่อยอดผลงานต่อไป” นายสุริยา กล่าวเสริม