“อุตตม”ชี้แจงออกมาตรการเยียวยาโควิด-19 ใช้งบแสนล้านบาท พยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ ชี้คาดเดาได้ยากจบเมื่อไหร่ ย้ำการส่งเงินให้ถึงประชาชนเอาไปใช้จ่าย ตรงเป้าหมายและได้ผลไว เงินสะพัดหลายรอบพร้อมออกแผนตามมาอีกหลายชุดกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.63 จากกรณีรัฐบาลเตรียมชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1 เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ในวันที่ 6 มี.ค.63 และจะนำเข้าสู่ ครม.เพื่ออนุมัติชุดมาตรการในวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งชุดมาตรการดังกล่าวใช้งบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาท และมีเสียงวิจารณ์ไม่เห็นด้วยนั้น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า มีข้อสงสัยกันมาก เรื่องที่กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยไวรัสโควิค-19 ด้วยวิธีการส่งเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิเพื่อให้นำเงินไปใช้จ่าย ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้า ครม.เร่งด่วน ทั้งนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้บทบาทกระทรวงการคลังมีอยู่ 2 แนวทางคือ 1.มาตรการทางภาษี เช่นการยกเว้นหรือการลดภาษีเพื่อให้เกิดเม็ดเงินส่วนต่างจากภาษีที่ลดไป หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ กับ 2.การนำเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบก็คือส่งให้กับประชาชนไปใช้จ่ายโดยตรง โดยต้องยอมรับว่าวันนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิค-19 รุนแรง และไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดำเนินถึงเมื่อไหร่ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการระยะสั้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ และการส่งเงินให้ถึงประชาชนเพื่อเอาไปใช้จ่ายคือ มาตรการที่ได้ผลเร็วที่สุด และเมื่อสถานการณ์ทุเลาลงแล้วต้องมีมาตรการอื่นๆเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจต่อไป ขณะที่การส่งเงินถึงมือประชาชนโดยตรงนั้นเป็นเพียง 1 ในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มเป้าหมาย และเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของทุกฝ่ายอีกครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจก่อนที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป สำหรับเป้าหมายของมาตรการนี้เพื่อให้ประชาชนนำไปซื้อสินค้า ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อมีการซื้อขายสินค้าบริการต่างๆเกิดขึ้น เม็ดเงินก็จะหมุนไปในหลายๆภาคส่วน และหลายๆรอบ คือเมื่อเกิดการซื้อก็มีการผลิต เมื่อมีการผลิตก็จะมีการจ้างงาน มีการซื้อวัตถุดิบ “เราต้องช่วยกันครับ คนไทยทุกคนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ความร่วมมือร่วมใจกันจะพาเราผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ขอบคุณครับ”