“กนอ.”จับมือ “อีสท์ วอเตอร์-สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร-สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน-ส.อ.ท.ร่วมประชุมเตรียมการแก้ปัญหาวิกฤติภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วางแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่อีอีซี เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ภาคอุตสาหกรรม เผยปริมาณน้ำต้นทุนมีเพียงพอจนสิ้นสุดฤดูแล้งวันที่ 30 มิ.ย.63 โดยมีปริมาณน้ำประมาณ 151 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมเตรียมแผนสู้ภัยแล้งระยะยาวด้วยการผันน้ำจากลุ่มน้ำวังโตนด จ.จันทบุรี 308 ล้านลูกบาศก์เมตร เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการน้ำของ กนอ.โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในเวลา 1 ปี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นประธานการประชุมเตรียมการแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) สมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อีอีซี นายกอบชัยกล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการบริหารจัดการด้านน้ำอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝ่าวิกฤตฝนทิ้งช่วงในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนนี้ โดยให้จัดทำแหล่งเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งจากปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำหลัก 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดระยอง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำดอกกราย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอใช้งานในภาคอุตสาหกรรมจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งนี้ โดยจากการประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุนที่ได้มาจากการผันน้ำ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำ ประมาณ 151 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนการใช้น้ำ ประมาณ 141.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จะมีน้ำต้นทุนคงเหลือ ประมาณ 9.8 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณที่เพียงพอไปจนถึงสิ้นสุดฤดูแล้งในเดือนมิ.ย.63 ประกอบกับ กนอ.มีมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ระบบ 3 Rs (Reduce : ลดการใช้ Reuse : นำกลับมาใช้ซ้ำ Recycle : นำกลับมาใช้ใหม่) และขอความร่วมมือผู้ประกอบการลดการใช้น้ำลง 10% ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ปริมาณการใช้น้ำลดลงได้ถึง 14 % ขณะเดียวกันมีมาตรการระยะยาวภายหลังสิ้นสุดฤดูแล้งโดยการพัฒนาลุ่มน้ำวังโตนด จังหวัดจันทบุรี โดยการกักเก็บน้ำเพิ่มเติมใน 4 อ่างประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำประแกด อ่างเก็บน้ำพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำแก่งหางแมว และอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด รวมปริมาณน้ำทั้งสิ้น 308 ล้านลูกบาศก์เมตรเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการพัฒนาอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังโตนดแล้วเสร็จได้ภายในเวลา 1 ปี น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)กล่าวว่า กนอ.ร่วมกับทุกภาคส่วนผลักดันมาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มเติมน้ำต้นทุนด้วยการดำเนิน 4 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแกดเข้าสู่อ่างเก็บน้ำประแสร์ ประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเดือนมีนาคม 2563 2.การใช้ระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อผันน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำประแสร์ 3.การปรับปรุงคลองน้ำแดง เพื่อเพิ่มศักยภาพการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และปรับปรุงสถานีสูบน้ำวัดละหารไร่ เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำระยองมาอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 4.การเพิ่มน้ำต้นทุนในนิคมอุตสาหกรรม โดยการนำน้ำจากคลองชากหมากมาผ่านการบำบัด (Waste Water Reverse Osmosis : WWRO ) ซึ่งผู้ประกอบการในนิคมอุตสหากรรมร่วมกันรับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของการดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะสามารถผลิตน้ำได้ 14,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายค่าน้ำเพิ่มในส่วนนี้เพียงหน่วยละ 2.76 บาทต่อลูกบาศก์เมตร แต่หากมีผู้ประกอบการรายใดที่ไม่เข้าร่วมกับโครงการฯ แต่มีความประสงค์จะใช้น้ำจากมาตรการนี้สามารถขอรับน้ำได้ในราคาต้นทุน อยู่ที่ 72 บาทต่อลูกบาศก์เมตรได้เช่นกัน “กนอ.ได้มีแนวทางการแก้ปัญหาภาวะวิกฤตภัยแล้งในระยะยาว เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆเหล่านี้ เพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤต อันจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อไปในอนาคต”