"จุรินทร์" สั่งกรมการค้าภายใน เพิ่มยอดส่งหน้ากากอนามัยถึงสธ. หลังรพ.เอกชนโวย ไม่พอใช้ เตรียมมาตรการชดเชยผู้ประกอบการ หลังต้นทุนสูงขึ้น บอก ไม่มีอำนาจสั่งสิระหยุดแจก เมื่อวันที่ 3 มี.ค. เวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการควบคุมหน้ากากอนามัยว่า หน้ากากอนามัยที่ผลิตจากโรงงาน มี 2 ส่วน ส่วนแรกหน้ากากอนามัยทางเลือก โดยกระทรวงมหาดไทยได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดแจกจ่ายให้ประชาชนจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 225 ล้านบาท สามารถผลิตได้ 50 ล้านชิ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณะสุขรับรองแล้วว่า สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ ส่วนที่สองหน้ากากอนามัยสีเขียว มีโรงงานผลิตทั่วประเทศ 11 แห่ง กำลังผลิตรวมกันก่อนที่จะเกิดสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 30 ล้านชิ้นต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 1 ล้านชิ้น เพียงพอใช้ในประเทศและสามารถส่งออกได้ แต่เมื่อเกิดสถานการณ์แล้วโรงงานทั้งหมดได้เร่งกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 36 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือ 1.2 ล้านชิ้นต่อวัน ทำให้เกิดอาการตึงตัว เนื่องจากมีความต้องการใช้มาก จึงได้หารือกับผู้ประกอบการให้เพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 38 ล้านชิ้นต่อเดือน จากการเพิ่มวันผลิตในวันอาทิตย์อีก 1 วัน แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน จึงเหลือแค่ไต้หวันกับอินโดนีเซียเท่านั้น ทำให้มีต้นทุนผลิตเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะควบคุมให้ราคามาตรฐานไว้อยู่ที่ 2.50 บาทต่อชิ้น ดังนั้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นรัฐบาลอยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลข เพื่อเข้าไปช่วยชดเชยต่อไป นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ ทางกระทวงพาณิชย์ จะต้องส่งให้กับกระทรวงสาธารณะสุขเพื่อไปจัดสรรให้กับโรงพยาบาลทุกแห่งเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุดได้ใช้ก่อน โดยตัวเลขเดิมตั้งแต่ประกาศหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมนั้น กระทรวงสาธารณะสุขจะได้รับการจัดสรรก่อนจำนวนร้อยละ 30 จากจำนวนที่ผลิตได้ทั้งหมด หรือ 10 ล้านชิ้นต่อเดือน หรือวันละ 3.5 แสนชิ้น แต่ปรากฏว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า ยังขาดแคลนอยู่ จึงได้สั่งการไปใหม่ว่า ให้แต่ละฝ่ายไปหารือกัน เพื่อทบทวนตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้น ก่อนที่จะกระจายส่วนที่เหลือไปตามผู้จัดจำหน่ายต่างๆให้เร็วที่สุด รวมถึงสมาคมร้ายขายยา สายการบิน และประชาชนทั่วไป โดยในวันที่ 5 มีนาคมนี้ กรมการค้าภายในจะจัดรถโมบายกระจายไปทั่วประเทศ โดยในกทม. และปริมณฑล จำนวน 20 คัน จังหวัดอื่นๆตามความเหมาะสมเพื่อกระจายหน้ากากให้ได้มากที่สุด โดยไม่ต้องกังวลว่า จะมียี่ปั๊วจะไปรับซื้อถึงโรงงานเพื่อเก็งกำไร เพราะทางกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำอยู่ที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย โรงงานละ 2 คนเพื่อกำกับดูแล รายงานยอดการผลิต รวมถึงตัวเลขของการกระจายที่ต้องรายงานต่อศูนย์กระจายหน้ากากอนามัยที่มีกรมการค้าภายใน กับกระทรวงสาธารณะสุขเป็นผู้รับผิดชอบทุกวัน เพื่อกระจายสินค้าให้ทั่วถึงที่สุด เมื่อถามถึงมาตราการในการควบคุมหากพบผู้ขายหน้ากากอนามัยแพงกว่าราคาควบคุมนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการผู้กระทำผิดกฏหมายไปแล้ว 60 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีขายเกินราคาในลักษณะแพงเกินสมควร ให้เจ้าหน้าตำรวจดำเนิน จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนในออนไลน์ พบในลักษณะเข้าข่ายหลอกหลวงผู้บริโภค โดยเป็นมิจฉาชีพโอนเงิน แต่ไม่มีการส่งหน้ากากอนามัยไปให้ เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานก็ถือว่า เข้าข่ายหลอกลวง โดยเจ้าหน้าตำรวจ รวมถึงกอ.รมน. และทางจังหวัดได้เข้าไปช่วยสอดส่องดูและแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ขายแพงเกินสมควร ได้ให้เจ้าหน้าที่ติดตามดำเนินคดีย้อนหลังด้วย ขณะเดียวกันยังได้สั่งเจ้าของแพลตฟอร์มในช่องทางออนไลลน์ต่างๆ ถ้ายังปล่อยให้มีการทำผิดหลอกลวง หรือข่ายเกินราคาก็ต้องแจ้งความด้วยเช่นกัน ส่วนกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ได้แจกหน้ากาอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานให้กับประชาชนนั้น ตนไม่ทราบว่า นำมาจากไหน แต่ถ้าใครส่งเรื่องให้สอบตนก็ยินดี และไม่ทราบข้อเท็จจริงด้วยว่า ได้มาตรฐานหรือไม่ และไม่มีอำนาจไปสั่งให้นายสิระหยุดแจกด้วย