มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมสืบสานวัฒนธรรมข้าวไทย ตามแนวพระบรมราโชบาย น้อมเกล้าฯถวายในหลวงรัชกาลที่ 10 ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้อาจารย์ นักศึกษา คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กว่า 70 คน ร่วมกับกลุ่มเกษตรกร ต.เกาะแต้ว อำเภอเมือง จ.สงขลา สืบสานวัฒนธรรมข้าวตามแนวพระราโชบาย ถวายในหลวงรัชกาลที่ 10 ณ พื้นที่ ต.เกาะแต้ว โดยร่วมกันปลูกและอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองอย่างถูกวิธี สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้แก่คนในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง ที่ผ่านมาทางคณะฯ ได้ดำเนินโครงการบริการวิชาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2560 เพื่อเพิ่มทักษะวิชาชีพและพัฒนาอาชีพของกลุ่มเกษตรกรให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้โครงการ “การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง” เนื่องจากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายพันธุ์ ได้แก่ เล็บนก หอมกระดังงา หอมจันทร์ ดอกพะยอม รวงรี ลูกปลา ดำเบา และ จำปา เป็นต้น ดร.มงคลกล่าวว่า ในปี พ.ศ.2562 ทางคณะฯ ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “สืบสานวัฒนธรรมข้าว ตามแนวพระราโชบาย ถวายในหลวงรัชกาลที่ 10” โดยมีกิจกรรมเสวนาเกี่ยวกับความสำคัญของวิธีการคัดเลือกและเก็บรักษาพันธุ์ข้าวให้บริสุทธิ์เพื่อให้ได้สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของชุมชนเกาะแต้ว ที่มีความบริสุทธิ์ทางสายพันธุ์ มีความสม่ำเสมอทั้งคุณภาพและรสชาติการหุงต้ม สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวต่อพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาการปะปนพันธุ์ ได้พันธุ์ที่ต้านทานโรคแมลง และลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรในชุมชนเกาะแต้วได้ นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมการลงแขกเกี่ยวข้าวร่วมกันระหว่างเกษตรกร บุคลากร และนักศึกษา คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ทุกคนเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และช่วยกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ได้ทราบถึงวิถีเกษตรกรรมของไทย ด้าน ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า ในปี พ.ศ.2563 คณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้จัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมข้าว เพื่อสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมุ่งให้ความสำคัญในการฟื้นฟูการปลูกข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่น และการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองในแหล่งที่ปลูก เพื่อช่วยไม่ให้พันธุกรรมข้าวสูญหายไปจากธรรมชาติ และเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต รวมถึงส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เช่น แตงกวา แตงโม ถั่วฝักยาว พริก มะเขือ ถั่วลิสง ฟักทอง ข้าวโพดหวาน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นการร่วมสืบสานประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคีในหน่วยงาน หมู่บ้าน และชุมชนที่อาศัย ถือเป็นการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น