สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและชลประทาน จ.อุดรธานี ต้องลงตรวจสภาพภัยแล้งในพื้นที่อบต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม หลังจากชาวบ้านในพื้นที่ต้องเดือดร้อนขาดแคล น้ำหนักในรอบ 10 ปี เตรียมผันน้ำมาช่วยและประสานประปาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น วันนี้ (2 มี.ค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี และนายอภิชาต ชุมนุมมณี ผอ.ชลประทานจังหวัดอุดรธานี นายสมพร คำขำ นายช่างชลประทานอาวุโส ได้ลงพื้นที่ตรวจ แหล่งน้ำธรรมชาติ “หนองหูลิง” บ้านห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี ซึ่งก่อสร้างโดยกรมทรัพยากรน้ำ ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อดูระดับน้ำ ที่จะ ผันมาช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังประสบภัยแล้ง บ้านสะอาดนามูล หมู่ 10 บ้านอนามัยไทยเจริญ หมู่ 13 และบ้านโนนคำมี หมู่ 2 ซึ่งน้ำที่ “หนองมะไฟ” ที่ใช้ร่วมกัน ตอนนี้น้ำแห้งใกล้วิกฤต โดยมี นายสถิต คำลาเลี้ยง นายอำเภอประจักษ์ศิลปาคม นางวัฒนา สกลุทองเสรี ปลัดอำเภอ นายประจักษ์ อุดชาชน นายกอบต.ห้วยสามพาด ได้รายงานสถานการณ์ พร้อมกับพบปะกับตัวแทนประชาชนทั้ง 3 หมู่บ้าน นายประจักษ์ อุดชาชน นายกอบต.ห้วยสามพาด กล่าวว่า ปีนี้พื้นที่ห้วยสามพาด ถือว่าวิกฤต เรื่องน้ำ ในรอบ 10 ปีก็ว่าได้ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบ เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ สืบ เนื่องจากว่าปีที่ผ่านมา เกิดภาวะภัยแล้งในพื้นที่ห้วยสามพาด มีพายุ “โพดุล” เข้ามาแค่ลูกเดียว และบ่อน้ำแห่งนี้เป็นบ่อน้ำผิวดิน ไม่สามารถที่จะเก็บกักน้ำที่จะบริการชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน 450 ครอบครัว 1,600 ชีวิต ในการที่จะใช้น้ำร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในวันนี้ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.อุดรธานี มอบหมายให้ นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ปภ.อุดรธานี นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผอ.ชลประทานจังหวัดอุดรธานี มารับทราบและรวบรวมปัญหาและหาแนวทางแก้ไขช่วยเหลือประชาชนต่อไป ในเบื้องต้นจากการพูดคุยกัน ทางอบต.ห้วยสามพาดเอง จะจัดสรรงบประมาณในการผันน้ำ จากหนองหูลิง ซึ่งมีระยะห่างจากบ่อน้ำแห่งนี้ประมาณ 3 กิโลเมตร ที่มีปริมาณอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าลูกบาศก์เมตร ในการที่จะมาบริการประชาชนในช่วงหน้าแล้งนี้ ก็คงจะใช้ได้ประมาณ 1 เดือน จึงอยากจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการขุดเจาะบ่อบาดาล หรือว่าขนน้ำมาบริการประชาชนต่อไป นายธีระภัทร์ ผิวสวัสธ์ ปภ.อุดรธานี กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดอุดรธานี ฝนตกครั้งสุดท้ายปลายสิงหาคมปีที่แล้ว ทำให้แหล่งน้ำผิวดินในพื้นที่ค่อนข้างจะมีน้อย แนวทางการแก้ไขปัญหาส่วนหนึ่ง ก็น่าจะเป็นการรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนในหลายๆพื้นที่ ผวจ.มอบหมายให้ปภ.จังหวัดและชลประทานจังหวัด ลงพื้นที่ดูสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นอำเภอประจักษ์ศิลปาคม อำเภอโนนสะอาด อำเภอสร้างคอม ในระยะเร่งด่วนนี้ก็จะหาน้ำอุปโภคบริโภคมาเติมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการประปา ส่วนภูมิภาค หรือว่าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งเรามีเครื่องสูบน้ำส่งระยะไกล สามารถที่จะผันน้ำมาได้ ส่วนระยะกลางก็คงจะมีการขุดลอกเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงปลายปีหรือในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ส่วนระยะยาวจะต้องมาศึกษาก่อนว่า เราจะทำอย่างไรที่จะให้พื้นที่มีปริมาณใช้น้ำเท่าไหร่ มี แหล่งน้ำเท่าไหร่ ทุกพื้นที่จะคิดอย่างนี้ เพราะไม่เช่นนั้นถึงช่วงฤดูแล้งมา น้ำจะไม่เพียงพอ ถ้าหากไม่ เพียงพอ การที่เราจะไปหาน้ำแหล่งอื่นก็ค่อนข้างที่จะลำบาก เพราะฉะนั้นเราจึงจะทำอย่างไรให้มีแหล่งน้ำต้นทุนให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค นายธีระภัทร์ กล่าวอีกว่า จริงๆพื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี ณ เวลานี้ ยังไม่ถึงขั้นประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย เพราะแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคของเรายังมี อย่างเช่นหนองหูลิงก็ยังมี แต่ถ้าหากวิกฤตจริงก็จะมีการประปาส่วนภูมิภาค แต่อย่างไรก็ตามหลังจากนี้อีกระยะหนึ่ง ถ้าหากเข้าขั้นวิกฤตจริงๆก็จะประกาศเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัย คือภัยแล้งก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยต่อไป นายอภิชาต ชุมนุมมณี ผอ.ชลประทานจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ทางชลประทานอุดรธานี ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในจังหวัด ทางกระทรวงทางกรมก็ได้มอบหมายให้ประสานกับทุกพื้นที่ แม้จะเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ในเขตชลประทานก็ตาม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และจุดที่แก้ไขในครั้งนี้ก็มีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหา คิดว่าช่วงฤดูแล้งปีนี้จะผ่านพ้นไปได้ ส่วน นางวัฒนา สกุลทองเสรี ปลัดอำเภอประจักษ์ศิลปาคม กล่าวว่า ทางอำเภอรับเรื่องแก้ไขปัญหาระยะกลางคือ ในการที่จะผลักดันเสนองบจากจังหวัดและส่วนกลางมาขยายพื้นที่เก็บกักน้ำในโอกาสต่อไป และสนับสนุนกิจกรรมดำเนินการและดูแลพี่น้องประชาชนร่วมกับทางท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ นายณรงค์ พรมเลิศ ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ขอบคุณส่วนราชการทุกภาคส่วน ที่มาดูความเดือดร้อนของชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน ช่วงนี้ถือว่าเดือดร้อนจริงๆ น้ำจะใช้ขาดแคลนแลสกปรกด้วย ขอบคุณนายกอบต.ห้วยสามพาด ที่เป็นตัวกลางประสานมาพบกับหน่วยงานทั้งปภ.และชลประทาน และเห็นว่าจะรีบดำเนินการให้ เรามีความหวังที่จะไม่ขาดน้ำใช้ในหน้าแล้งปีนี้/