การบินไทยเผยปี 62 ขาดทุน 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 1.16 หมื่นล้านบาท พิษสายการบินแข่งขันรุนแรงรายได้วูบ 7.7% เล็งปรับโครงสร้างองค์กรลดขั้นตอนทำงาน เพิ่มรายได้ จับตาโควิด-19แพร่ระบาด บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือTHAI แจ้งผลการดำเนินงานปี 2562 ว่า บริษัทมีผลขาดทุน 12,042.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 11,625.16 ล้านบาท เนื่องจากรายได้รวมลดลง7.7% อยู่ที่ 184,046 ล้านบาท จากปีก่อนสาเหตุสำคัญมีปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการเดินทางของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และการแข่งขันที่รุนแรงทำให้รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลงรวม 15,767 ล้านบาท หรือลดลง 8.6% สำหรับค่าใช้จ่ายรวม 196,470 ล้านบาท ต่ำกว่าปี ก่อน 12,088 ล้านบาท หรือ 5.8% เนื่องจากค่าน้ำมันลดลง 5,421 ล้านบาท หรือ 9.0% เพราะราคาน้ำมันลดลง 8.2% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันลดลงจากปี ก่อน 6,580 ล้านบาท หรือ 4.6% สาเหตุหลักเกิดจากการปรับปรุงรายการค่าใช้จ่ายเงินทดแทนวันหยุดประจำปี (วันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่ใช้ไม่หมดภายใน 3 ปี ตามที่ระเบียบบริษัทกำหนด) ที่รับรู้รายการเป็นค่าใช้จ่ายในงบการเงินสำหรับปี 2558-2561 รวมประมาณ 1,261 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์จากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 6 โดยบันทึกผลกระทบของเครื่องบินที่คิดค่าเสื่อมราคาครบ 20 ปี แล้ว รวมไว้ในปี 2561 จำนวน 1,279 ล้านบาท ประกอบกบค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นๆ ลดลงตามปริมาณการผลิตที่ลดลง ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงานจำนวน 12,424 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3,366 ล้านบาท หรือ37.2% นอกจากนี้บริษัทและบริษัทย่อยมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวได้แก่ ประมาณการเงินตอบแทนความชอบในการทำงาน จำนวน 2,689 ล้านบาท โดยบริษัทรับรู้ค่าชดเชยเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) ที่กำหนดอัตราค่าชดเชยเพิ่มเติมกรณีนายจ้างเลิกจ้างสำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ขึ้นไปให้มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายจำนวน 400 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่30 ก.ย.62 เป็นต้นไป ทั้งนี้บริษัทมีกำไรจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเงินลงทุนในบริษัท สายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) หรือ NOK จำนวน 273 ล้านบาท จากการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทในสายการบินนกแอร์ลดลงจากเดิมร้อยละ 21.80 เป็นร้อยละ15.94 ในไตรมาส 1ของปี 2562 รวมถึงมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 634 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4,439 ล้านบาท ประกอบด้วยกำไรจากการตีมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สิน (Unrealized FX Gain) 2,243 ล้านบาท และกำไรที่เกิดขึ้นแล้ว (Realized FX Gain) 2,196 ล้านบาท ส่งผลให้ 2562 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปี ก่อน 448 ล้านบาทหรือ3.9%โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็ นของบริษัทใหญ่ 12,042 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน3.6% สำหรับอุตสาหกรรมการบินในปี 2563 ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งจากสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ทำให้ประเทศไทยและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้ประกาศห้ามหรือเตือนประชาชนของตนให้งดการเดินทางไปยังประเทศที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว เป็นเหตุให้ บริษัทต้องปรับลดเที่ยวบินและลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลง อย่างไรก็ตามบริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการตามมาตรการในการบริหารจัดการผลกระทบอย่างเข้มข้น โดยจัดตั้งคณะทำงานเรื่องการแก้ไขปัญหาเพื่อติดตามสั่งการและเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่มีสัญญาณที่คลี่คลายและยังคงทวีความรุนแรง และลุกลามในภูมิภาคยุโรปในอีกหลายประเทศในขณะนี้ นอกจากนี้ผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังดำเนินต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการเจรจาจะบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้นแล้ว แต่คาดว่ายังคงนำไปสู่การเจรจาในขั้นต่อๆไป ประกอบกับประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมืองภายหลัง จากการถอนตัวของ สหราชอาณาจักรจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ เบร็กซิท ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวนจากปัจจัยลบต่างๆและสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมของบริษัท โดยบริษัทได้ทบทวนสภาพแวดล้อมภายนอกของอุตสาหกรรมการบิน สภาวะตลาดและการแข่งขันสภาพแวดล้อมภายในโดยได้จัดทำแผนฟื้นฟูระยะเร่งด่วนระยะที่ 2 โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนดำเนินการตามกลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย 3 แนวทางการดำเนินงานได้แก่ การเพิ่มรายได้ โดยดำเนินกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าแบบ Personalized มุ่งเน้นการสร้างรายได้เสริม(Ancillary Revenue) รวมทั้งเร่งดำเนินงานด้าน Digital Marketing โดยใช้ Big Data และ Data Analytic ในการวิเคราะห์ตลาดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเพิ่มการขายทาง Online ให้มากขึ้น การควบคุมและลดค่าใช้จ่ายโดยมีมาตรการตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลดค่าตอบแทนของผู้บริหารและคณะกรรมการอยางสมัครใจ เป็นต้น ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน อาทิ การบริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพ โดยเร่งสรุปแผนการจัดหาเครื่องบินให้มีความเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท รวมทั้งควบคุมติดตามแผนการจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวาง และทรัพย์สินให้ได้ตามแผนการขายเครื่องบิน และวางแผนระยะยาวในการลดหนี้สินเพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำลงเพื่อลดความเสี่ยงของสถานะทางการเงินและหนี้สินของบริษัท รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกบการประกอบธุรกิจ และบรรจุบุคลากรในตำแหน่งสำคัญให้ครบถ้วนเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินการทั้งหมดมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด