ตรังถก.ด่วน! คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง  เพื่อรับมือโควิด-19 หากเกิดการระบาดรุนแรง ด้าน สธ.ตรัง วางแผนรับขั้นสูงสุด  เพื่อเตรียมความพร้อมและเพื่อความไม่ประมาท วันที่ 2 มีนาคม 2563 ที่ห้องประชุมราชพฤกษ์ ชั้น 2 โรงพยาบาลตรัง  นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒน์ปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ได้เรียกประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรัง โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน เพื่อติดตามสถานการณ์ของโรคไวรัส COVID-19  ทบทวนมาตรการการรับมือ ปัญหา อุปสรรคในการรับมือในช่วงที่ผ่านมา  รวมทั้งประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ และร่วมจัดทำแผนรับมือหากต้องเผชิญกับภาวะการระบาดที่รุนแรง หรือมีผู้ป่วยหลายราย  เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ขั้นสูงสุด หากต้องพบกับภาวะการระบาดที่รุนแรง และเพื่อความไม่ประมาท  ขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาลตรัง ได้แสดงความห่วงใยถึงข้อจำกัดของพื้นที่โรงพยาบาลตรัง ห้องตรวจ ห้องแยกโรค และบุคลากรผู้ทำการรักษา ซึ่งมีเพียงจำนวนน้อย    ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลตรังได้เตรียมพร้อมทั้งห้องปฏิบัติการ มีการซ้อมแผน  การเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่สู่บุคคลการ ทั้งชุดที่ใช้ในการสวมใส่ ขั้นตอนการติดตามผู้สัมผัส การติดตามวัดไข้ การเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ  การตรวจเชื้อจะทราบผลเบื้องต้นภายใน 6 ชม.   นายแพทย์ไกรสร โตทับเที่ยง รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรัง ได้กล่าวแสดงความเป็นห่วงในที่ประชุมถึงความพร้อมของสถานที่ และบุคคลการทางการแพทย์ที่มีจำกัดว่า  หากมีการระบาดในจังหวัดตรังจะรับไหวหรือไม่ เพราะโรงพยาบาลตรัง มีหมอผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคปอด 1 คน หมอโรคติดเชื้อ 1 คน และหมอโรคเอดส์ 1 คน รวมมีหมอผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพียง 3 คน  ขณะที่โรงพยาบาลตรัง ขณะนี้มีเตียงเต็มตลอดเวลาประมาณ 98-99 %  หากมีคนไข้กลุ่มติดเชื้อไวรัสเข้ามาเยอะ ทางโรงพยาบาลจะต้องเอาคนไข้ที่ดูแลอยู่ปกติออก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อระบบการดูแลสาธารณสุขภาพรวมของจังหวัดตรังค่อนข้างมาก   ซึ่งทราบว่าผู้ว่าฯ ยืนยัน จากนี้ไปจะไม่อนุญาตให้ข้าราชการเดินทางไปต่างประเทศ  ทำให้เหลือเฉพาะกลุ่มประชาชนทั่วไปที่เดินทางไปมา ซึ่งจะต้องติดตามทุกคนให้เข้าสู่ระบบการดูแล ป้องกัน รักษา อย่างเต็มที่   นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า  การเรียกประชุมด่วนคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรังในครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ของการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  เพื่อเตรียมความพร้อมทางการรักษา การสร้างการรับรู้แก่ประชาชนไม่ให้ตื่นตระหนก หรือการปฏิบัติตัว เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม  โดยขอให้พี่น้องประชาชนที่เข้าข่ายต้องสงสัยได้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจ หรือเฝ้าระวังตนเอง รวมทั้งอย่าแชร์ข้อความอะไรที่ไม่ถูกต้องออกไป  ส่วนปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่โรงพยาบาลตรังที่คับแคบ หรือมีบุคคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะโรคน้อยนั้น  ตนเองได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขไปหาข้อมูลว่า ขณะนี้อัตราเสี่ยงของจังหวัดตรังเป็นอย่างไร  พร้อมเร่งมาตรการเชิงรุก เช่น การตรวจเฝ้าระวังทั้งที่สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง หรือสถานที่ที่มีประชาชนเดินทางอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างความมั่นใจ   ด้าน นายแพทย์บรรเจิด สุขพิพัฒน์ปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า  สิ่งที่ทางสาธารณสุขจังหวัด และเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานร่วมกันมาโดยตลอด ก็ได้รายงานในที่ประชุมคณะกรรมการฯครบถ้วน เบื้องต้นได้รับคำแนะนำให้ออกเป็นประกาศของคณะกรรมฯ เพื่อให้สร้างความเข้าใจ และให้ประชาชนได้ตระหนักและร่วมมือกันมากขึ้น  ซึ่งหลังจากนี้จะมีการคำประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดตรังออกมา  ทั้งนี้ ในส่วนของข้อจำกัดในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษา เช่น ห้องความดันลบมีน้อย   หากเกิดกรณีฉุกเฉินรองรับได้ไม่เพียงพอ สิ่งที่เราจะต้องทำคือ การทำงานเชิงรุก ให้การระบาดเกิดการชะลอตัวในการเพิ่มปริมาณผู้ป่วย ถ้าค่อยๆเพิ่มไม่มีปัญหารับได้  แต่ในการทำงานทางสาธารณสุขต้องประเมินขั้นสูงสุดไว้ก่อน เช่น ถ้ามีการเพิ่มวันละหลายๆราย โดยในทางทฤษฏี มีการคาดการณ์ ถ้าเราไม่ทำอะไร เช่น ตรังมีประชากร 6 แสนคน ถ้าเกิดภาวะเหมือนเมืองฮูฮั่นขึ้นมา เราก็คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 5-10 ราย มาตรการรองรับคือ  เปิดพื้นที่รองรับผู้ป่วยที่ผ่านการวินิจฉัยยืนยันผลแล้ว อยู่รวมด้วยกัน กลุ่มที่ต้องพิสูจน์ก็จะต้องแยก บางกรณีที่จำเป็นอาจต้องปิด 1 รพ.เพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ ย้ายผู้ป่วยปกติไปที่รพ.อื่น  ส่วนของบุคคลกร ถ้าเกิดภาวะที่รับมือไม่ทัน ต้องตระหนักไว้ว่า อัตราป่วยหรืออัตราตายของโรคอื่นก็จะเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเราจะต้องเอาทรัพยากรมาดูแลคนกลุ่มนี้ ถ้าเราวางมาตรการไม่ดี จะอันตรายมาก ซึ่งเราจะต้องคิดถึงภาวะเลวร้ายเหล่านี้ และก็ทำแผนไว้ให้ดี  ต้องทำแผนเตรียมรองรับ ในส่วนของความเชี่ยวชาญของบุคลากร เรามีการซ้อมแผน มีประสบมาแลวมากมายพอสมควร โดยเฉพาะของโรงพยาบาลตรังรับมือโรคต่างๆมาก่อนหน้านี้แล้ว