วันที่ 2 มีนาคม 2563 นางสุนี ไชยรส อาจารย์คณะนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต พร้อมด้วยคณะนักศึกษา 30 คน ร่วมกับมูลนิธิชุมชนไทและเครือข่ายขอคืนสัญชาติคนไทยพลัดถิ่น ได้ลงพื้นที่อำเภอทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อช่วยเหลือชาวไทยพลัดถิ่นเก็บและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการขอคืนสัญชาติไทย โดยนางสุนีกล่าวว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยรังสิตได้ลงนามข้อตกลงไว้กับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อใหนักศึกษาช่วยตรวจสอบและเตรียมเอกสารของชาวบ้านกลุ่มนี้เพราะมีความยุ่งยาก บางส่วนไม่รู้หนังสือ นอกจากนี้นักศึกษายังช่วยเหลือในการเตรียมพยาน ทำผังเครือญาติซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการขอคืนสัญชาติเพราะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าญาติคนไทยเป็นใคร โดยนักศึกษาได้ลงพื้นที่ในลักษณะนี้เป็นครั้งที่ 9 อาจารย์คณะนวตกรรมสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมานักศึกษาได้จัดเตรียมเอกสารไปแล้วกว่า 1,000 คำขอ คือ 1.กลุ่มที่ยื่นใหม่เพื่อขอคืนสัญชาติ 2. กลุ่มที่ถูกจำหน่วยเพราะมีข้อสงสัยเรื่องการทุจริตภายใน ทำให้อำเภอใช้วิธีจำหน่ายชื่อตัดสิทธิชาวบ้าน โดยคนกลุ่มนี้มีนับพันคน 3. กลุ่มผิดหลงคือเป็นไทยพลัดถิ่นแต่ไปลงข้อมูลไว้เป็นอย่างอื่น โดยกลุ่มผิดหลงต้องหาคนมารับรอง และเราต้องแนะนำเรื่องยื่นเอกสารอะไรบ้าง เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นคนไทยพลัดถิ่น ไม่ใช่กะเหรี่ยง มอญ อย่างที่ระบุไว้ผิดๆ “ ปัจจุบันตัวเลขของคนไทยพลัดถิ่นที่กรมการปกครองขึ้นทะเบียนไว้มีประมาณ 1.8 หมื่นคน แต่เราคิดว่ามีมากกว่านั้น เราก็เศร้าใจอยู่ ทางการจะบอกว่าไม่มีกำลังคนและไม่มีงบประมาณก็ไม่ได้ เพราะนักศึกษาก็มาช่วย แต่ตอนนี้ยังทำกันได้ไม่รวดเร็วนักเพราะปัญหาอุปสรรคมาก โดยในส่วนของชาวบ้านที่เป็นสมาชิกเครือข่ายขอคืนสัญชาติไทยนั้น มีการจัดเตรียมเอกสารได้ดีกว่าชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่าย แต่เพราะทางการเกรงกลัวเรื่องทุจริตมาก เลยพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้มากที่สุด ทำให้กลไกต่างๆ ไม่รื่นไหล แม้แต่คณะกรรมการพิจารณาสัญชาติชุดใหญ่ก็พิจารณาแค่เรื่องที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเท่านั้น แต่มีอีกจำนวนมากที่ไปกองอยู่บนอำเภอและไม่มีใครไปกระทุ้ง”นางสุนี กล่าว นางสุนีกล่าวว่า รัฐควรมีการวางแผนและตั้งเป้าไว้ว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาเท่าไร โดยเอาตัวเลขจากทุกหน่วยงานมาวางกองไว้บนโต๊ะและตั้งเป้าว่าจะทำแต่ละปีได้แค่ไหน และควรเตรียมข้อมูลมาประสานกันให้เร็ว นอกจากนี้ยังควรมีกลไกลส่วนกลางลงพื้นที่มาตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินงานเดินได้เร็ว ถ้าไม่มีแผนเรื่องก็จะไปเรื่อยๆ แล้วมาอ้างว่าไม่มีกำลัง “เราพบอธิบดีกรมการปกครองมาแล้ว 3 ครั้ง เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผนระดับนโยบาย เราต้องดูว่ากรมการปกครองติดขัดอะไร เราหวังว่าการมาใน 3 พื้นที่ครั้งนี้คือทับสะแก บางสะพาน และเมือง จะทำให้ข้อติดขัดต่างๆได้เดินต่อ ทางการต้องใจกว้างให้ชาวบ้านติดตามได้”นางสุนี กล่าว นายโชไอซ์ ปาทาน นักศึกษาคณะนวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติ กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะนักศึกษามาแล้ว 5-6 ครั้ง ทุกวันนี้ตนเองก็ยังไม่มีบัตรประชาชน ทั้งที่เกิดที่โรงพยายาลสามร้อยยอด จังหวัดประจวบฯ และพ่อก็อยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 35 ปี ตอนนี้อายุ 21 ปี และเคยยื่นเครื่องไปแล้วหลายครั้ง ที่มีปัญหาเพราะหน่วยงานภาครัฐมีกระบวนการตรวจสอบที่ช้า เขารับคำร้องและส่งไปตรวสอบหลายหน่วยงาน ส่งไปถึงสถานทูตพม่าในไทย นายโชไอซ์กล่าวว่า ด้วยความที่ทางการมักมองเพียงรูปลักษณ์ภายนอก แล้วตัดสินว่าพวกตนเป็นมุสลิมและกลัวเป็นภัยความมั่นคง ทั้งๆที่พวกตนอยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว และไม่มีญาติพี่น้องในพม่าหรือประเทศอื่นเลย ทุกวันนี้ยังไม่มีการแก้ปัญหาให้กับมุสลิมมะริดที่อยูในไทย ซึ่งมี 300-400 คนใน 4 จังกวัด แต่ที่อื่นไม่มีปัญหาเท่ากับประจวบฯ “ผมประสบปัญหามาตั้งแต่เด็ก ยังดีที่ได้ทุนจากคุณพ่อ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เพราะไม่สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนการศึกษาได้ สมัยเป็นนักเรียน ผมเองก็ถูกกลั่นแกล้งอยู่บ่อยๆ มักถูกล้อไม่ใช่แค่เพื่อนๆในห้องเท่านั้น แม้แต่ครูก็ยังล้อเรา”นายโชไอซ์ กล่าว