ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่รบกวนต่อเสถียรภาพความมั่นคงของบรรดาประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์เรา สำหรับ “ปัญหาการก่อการร้าย” หรือในบางประเทศเรียว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” ที่ยังคงเปิดฉากการสู้รบกับกองทัพรัฐบาลในหลายประเทศของอาเซียน รวมประเทศไทยเราด้วย โดยนอกจากมีไทยเราแล้ว ก็ยังมี มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ผจญกับศึกจากเหล่าวายร้ายพวกนี้ ทั้งนี้ ทั้ง 3 ชาติอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ข้างต้น ออกมายอมรับว่า นอกจากจะต้องปะทะกับกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงที่เคลื่อนไหวภายในประเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ยังต้องตะลุมบอนกับเครือข่ายของขบวนการก่อการร้ายกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส หรือที่หลายคนเรียกว่า ไอซิส ที่เคยมีประวัติการรบ การทำสงครามก่อการร้ายจากอิรัก และซีเรีย อีกต่างหากด้วย นอกจากนี้ ถึงขนาดมีบางประเทศ อย่างฟิลิปปินส์ ถิ่นตากาล็อก เคยถูกเครือข่ายไอเอสพวกนี้ ร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้ายเจ้าถิ่น บุกโจมตีมายึดเมืองได้ทั้งเมืองก็เคยมี ยกตัวอย่าง เมืองมาราวี ใน จ.ลาเนาเดลซูร์ บนเกาะมินดาเนา ภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถูกเครือข่ายไอเอส ที่จับมือกับกลุ่ม “มาอูเต” และกลุ่ม “อาบูไซยยาฟ” ร่วมกันยึดเมืองเมื่อช่วงกลางถึงปลายปี 2560 (ค.ศ. 2017) คือระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม 2560 กว่าที่วิกฤตการณ์ยุติ ทั้งสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย และเจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพรัฐบาลมะนิลา ทางการฟิลิปปินส์ ก็ต้องสังเวยชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมากทั้งสองฝ่ายนับพันคน รวมถึงชีวิตประชาชนพลเรือนอีกจำนวนไม่น้อย ไม่นับทรัพย์สิน ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้า อาคาร บ้านเรือนต่างๆ เป็นต้น ได้รับความเสียหายแทบจะทั่วเมือง ว่ากันถึง กลุ่มติดอาวุธทั้งสองกลุ่มข้างต้น คือ กลุ่มมาอูเต และกลุ่มอาบูไซยยาฟ ก็เป็นกลุ่มหัวรุนแรงในฟิลิปปินส์ ที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนหมู่เกาะภาคใต้ คือ มินดาเนา จากทางการฟิลิปปินส์ คือ รัฐบาลมะนิลา โดยกลุ่มอาบูไซยยาฟ มีอายุเก่าแก่กว่า ส่วนกลุ่มมาอูเต เป็นกลุ่มที่แตกมาจากกลุ่มอาบูไซยยาฟ โดยได้สวามิภักดิ์ต่อขบวนการไอเอสในซีเรียและอิรัก ที่กำลังโด่งดังในยุคนั้น พร้อมกับตั้งชื่อในลักษณะว่าเป็นเครือข่ายของขบวนการไอเอสในฟิลิปปินส์ด้วยว่า “กลุ่มรัฐอิสลามแห่งลาเนา” ซึ่งนอกจากชื่อแล้ว กลุ่มมาอูเต ก็ยังใช้ธงสัญลักษณ์ของกลุ่มคล้ายกับขบวนการไอเอสในซีเรียและอิรักอีกด้วย นอกจากถูกยึดเมืองแล้ว ฟิลิปินส์ ก็ยังเคยพบกับปฏิบัติการก่อการร้ายในรูปแบบ “ระเบิดฆ่าตัวตาย” หรือที่หลายคนเรียกว่า “ระเบิดพลีชีพ” จากกลุ่มติดอาวุธด้วย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเป็นค่ายทหารชั่วคราวของหน่วยรบพิเศษฟิลิปปินส์ ที่เข้าไปตั้งฐานบนเกาะโจโล ในการปฏิบัติภารกิจต่อต้านการก่อการร้ายที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ปรากฏว่า สมาชิกก่อการร้ายในพื้นที่ ทราบชื่อภายหลังว่า นายนอร์แมน ลาซูกา อายุ 23 ปี เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดน “อาบูไซยยาฟ” โดยมีรายงานว่า เครือข่ายของขบวนการไอเอสที่เข้ามาเคลื่อนไหวในฟิลิปปินส์ เป็นผู้ฝึกสอนการใช้ยุทธวิธีระเบิดฆ่าตัวตาย หรือระเบิดพลีชีพ ให้แก่สมาชิกอาบูไซยยาฟผู้นี้ ก่อนมาก่อเหตุสะท้านขวัญ ผลของระเบิดฆ่าตัวตายจากปฏิบัติการก่อการร้ายครั้งนั้น ทำให้ทหารหน่วยรบพิเศษของกองทัพฟิลิปปินส์เสียชีวิตอย่างน้อย 3 นาย และมีพลเรือนถูกลูกหลงเสียชีวิตไปด้วยอีก 3 ราย ทั้งนี้ เหตุระเบิดฆ่าตัวตาย หรือระเบิดพลีชีพดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ ที่กลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง ใช้ปฏิบัติการโจมตีฝ่ายความมั่นคงในลักษณะเช่นนี้ จากบรรดาสถานการณ์ที่ถาโถมข้างต้น ก็เป็นเหตุให้ฟิลิปปินส์ ถูกยกให้เป็นประเทศที่อ่วมอรทัยจากปัญหาการก่อการร้ายหนักที่สุดในอาเซียนก็ว่าได้ ส่งผลให้ล่าสุด ทางรัฐบาลฟิลิปปินส์ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์จอมเฮี้ยว ได้ผลักดันให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ ซึ่งทางวุฒิสภา เพิ่งมีมติผ่านด้วยคะแนน 19 ต่อ 2 เสียง เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อถกเถียงจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายต่อต้าน อย่าง ส.ว.ริซา ฮอนติเวรอส และส.ว.ฟรานซิส ปันกิลินาน สองวุฒิสมาชิกที่ออกเสียงคัดค้านในการประชุมวุฒิสภาที่เพิ่งผ่านพ้นมานั้น โดยสอง ส.ว. ผู้ออกเสียงคัดค้าน แสดงทรรศนะว่า หวั่นเกรงว่า กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ใช้อำนาจการต่อต้านการก่อการร้ายจนเกิดขอบเขต และนำไปสู่การละเมิดต่างๆ ภายใต้ข้ออ้างว่า เพื่อปราบปรามการก่อการร้าย เหมือนการทำสงครามปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของประธานาธิบดีดูเตร์เต ที่ยังเขย่าขวัญชาวโลก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจปราปรามขบวนการยาเสพติด จนเป็นฝ่ายละเมิดต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ท่ามกลางการข้ออ้างเพื่อการปราบปรามข้างต้นในหลายกรณีเช่นกัน สำหรับ ผลของร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เพิ่งผ่านมติที่ประชุมวุฒิสภาฟิลิปปินส์มานั้น ก็จะส่งผลให้กฎหมายฉบับเก่า คือ กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 มีอันต้องยกเลิกไป และระบุอย่างชัดเจน การกระทำเช่นใด หรือการครอบครอง ตลอดจนการใช้อาวุธลักษณะใดๆ เป็นก่อการร้าย พร้อมกับเปิดไฟเขียวให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ดำเนินการปราบปรามขบวนการก่อการร้ายที่คุกคามความมั่นคงของประเทศได้สะดวกขึ้น