ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งหน่วยฝนหลวงที่สนามบินบุรีรัมย์ พร้อมบินสำรวจสภาพอากาศ เพื่อเร่งปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวง เติมปริมาณน้ำในอ่าง แหล่งน้ำธรรมชาติที่ตื้นเขิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เกษตรที่ประสบภัยแล้ง (1 มี.ค.63) สถานการณ์ภัยแล้งที่ขยายวงกว้างในหลายพื้นที่อำเภอ ของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยจากข้อมูลพบว่า มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภาวะภัยแล้งแล้ว 8 อำเภอ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 47 ตำบล 488 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อนกว่า 31,000 ครัวเรือน นาข้าวได้รับความเสียหายกว่า 35,000 ไร่ ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงพิจารณาให้มีการตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ.2563 ที่ผ่านมา โดยนำเครื่องบินของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 2 ลำ มาประจำที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เพื่อออกปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเติมปริมาณในอ่าง แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีสภาพตื้นเขิน สำรองไว้ใช้ในการผลิตประปาสำหรับอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน และเกษตรกรในพื้นที่ นายนพรัตน์ พงศ์กิตติโชติ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนทั้งเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคให้กับราษฎร รวมถึงน้ำเพื่อการปศุสัตว์ และด้านการเกษตรของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งหลังจากตั้งหน่วยฝนหลวงที่ท่าอากาศบุรีรัมย์แล้ว ก็ได้บินสำรวจสภาพอากาศเป็นระยะ แต่สภาพอากาศยังไม่เอื้ออำนวยความชื้นไม่สัมพัทธ์ จึงยังไม่สามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงได้ในช่วงนี้ อย่างไรก็ตามยังมีเป้าหมายจะออกปฏิบัติการบินโปรยสารเคมีทำฝนหลวงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงฤดูฝน