“บิ๊กตู่” ยังไม่ปรับครม.หวั่นผู้ปฏิบัติงานจะเสียกำลังใจด้าน “สนธิรัตน์” เชื่อ “นายกฯ” ไม่เอาเรื่องส.ส.ย้ายเข้าร่วมรัฐบาลปรับ ครม. บอกอย่าเพิ่งไปคาดเดา ต้องให้เกียรตินายกฯ ชี้เป็นเรื่องดี หนุน “ส.ส.พปชร.”ขอสภาฯ เปิดเวทีรับฟังเสียงนักศึกษา มั่นใจเป็นทางออก- ลดความขัดแย้ง ส่วน “สมช.” ยันไม่มีแนวคิดใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ควบคุมแฟลชม็อบ มองไม่จำเป็น ยันไม่ปิดกั้น เมื่อชุมนุมอยู่ในสถาบัน ย้ำจนท.ถูกกำชับให้ปฏิบัติอย่างละมุนละม่อม หวั่นมือที่สามฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ “อิสระ” ทำหนังสือถึง“ชวน” ชงสภาฯ ดึงตัวเเทนนศ.สถาบันละ1คน ตั้งกมธ.วิสามัญแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ขณะที่“ธนาธร”ฝากส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ “ไม่ทรยศ ประชาชน” ขอไปทำหน้าที่เคลื่อนไหวนอกสภา ต้าน“ระบอบรัฐประหาร” ขณะที่ “ดุสิตโพล”เผยปชช.ให้คะแนน “การเมืองไทย” 3.76 จาก 10 เมื่อวันที่ 1 มี.ค.63 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกระแสข่าวว่าหลังเสร็จสิ้นการลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมน ตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลไปหารือที่ห้องรับรองรัฐสภา โดยมีการส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังไม่ทราบ และยังไม่ได้ยินข่าวดังกล่าว เพราะในช่วงวันดังกล่าวนายกฯ ได้พูดคุยและขอบคุณทุกคนที่ลงคะแนนในการอภิปราย และได้ฝาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข เรื่องเตรียมมาตรการรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19เพราะห่วงจะเกิดการแพร่ระบาด ด้าน แหล่งข่าวใกล้ชิดนายกฯ เปิดเผยว่า นายกฯ ยังไม่ส่งสัญญาณปรับครม.แต่อย่างใด ข่าวที่ออกมาไม่เป็นความจริง ซึ่งงบประมาณปี2563 เพิ่งจะประกาศใช้ ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะต้องให้งบประมาณเดินหน้าไปตามนโยบายก่อนระยะหนึ่ง ไม่อย่างนั้นผู้ปฏิบัติงานจะเสียกำลังใจและอาจถูกสังคมมองว่าการปรับ ครม.ทันทีหลังอภิปรายเป็นผลพ่วงมาจากการอภิปรายของฝ่ายค้าน ด้าน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เรื่องการปรับ ครม.ในช่วงนี้มีข่าวค่อนข้างเยอะ เรื่องนี้มีการพูดกันไปในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ได้ตอบสื่อมวลชนว่ายังไม่ได้มีการปรับแต่อย่างใด ดังนั้น ทุกอย่างที่พูดกันสุดท้ายต้องให้เกียรตินายกฯ ที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ เมื่อถามว่า ขณะนี้มีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคมีส.ส.เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อการพิจารณาหรือไม่ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า คาดกันไปเองว่าจำนวนส.ส.จะเป็นสิ่งที่มีผล แต่นั้นเป็นการคาดเดาและมีการพูดกันไปเอง อย่าเพิ่งคาดเดาไปล่วงหน้า เพราะยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนพรรคที่มีส.ส.มากขึ้น จะมีสิทธิ์ต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีมากขึ้น หรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องไปถามพรรคเหล่านั้น ทางเราคงตอบแทนไม่ได้ นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ 10ส.ส.พลังประชารัฐ เตรียมตั้งญัตติให้มีการรับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา สภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นเรื่องที่ส.ส.ของพรรคเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดำเนินการรับฟังฝ่ายเห็นด้วยและฝ่ายเห็นต่าง เพื่อให้ได้มีเวทีเอาข้อมูลมาพูดคุยกันเป็นความตั้งใจของพรรคพปชร.ที่จะรับฟังข้อขัดแย้ง “ผมเชื่อว่าคนไทยเราถ้ารับฟังกันให้มากมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยใช้ข้อเท็จจริงพูดคุยกันจะลดผลกระทบของความขัดแย้งลงได้ถือเป็นทางออกที่ดีของทุกความขัดแย้ง” นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ทำหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เพื่อขอเสนอญัตติด่วนเรื่องขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาเปิดพื้นที่ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงกับสภาฯ ในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม หลังเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ 36 สถาบัน ที่ได้นัดชุมนุมภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย สถานศึกษา และล่าสุดมีการรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ซึ่งตนคิดว่ากลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ถือเป็นเสียงสวรรค์ เป็นพลังบริสุทธิ์ที่จะผลักดันอนาคต หากยังปิดกั้นหรือแกล้งไม่ได้ยินเสียง การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาประเทศอาจจะถึงขั้นต้องสะดุดหยุดลง แต่หากสภาฯเปิดพื้นที่โดยมีตัวเเทนนักศึกษา มาร่วมเป็นกมธ.สถาบันละ1 คน จะช่วยส่งเสริมวิถีทางตามวิถีทางประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการชุมนุมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษา นักเรียน หรือแฟลชม็อบ ว่า สมช.ได้มีการจับตาดู แต่ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ และไม่มีการปิดกั้น ทั้งนี้ถ้าเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา อยากขอร้องให้อยู่ในกรอบของสถาบัน เนื่องจากสุ่มเสี่ยง ถ้าอยู่ในกรอบสถาบันหน่วยงานความั่นคงไม่ได้ว่าอะไร แต่ทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในสถาบันหรือที่ใด เจ้าหน้าที่ถูกกำชับให้ปฏิบัติอย่างละมุนละม่อม ส่วนงานด้านการข่าวทางสมช.ก็ติดตามดูอยู่ ช่วยกันดูกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ(สขช.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อถามว่า หวั่นมือที่ 3 ฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์หรือไม่ พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นไปได้ที่มือที่ 3 จะฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ โดยขณะนี้เองก็อยู่ในช่วงสอบ และมีเรื่องของไวรัสโควิด-19 การชุมนุมกันไม่ได้เป็นผลดี อยากให้ช่วยๆกันบอกหากมาชุมนุมให้ใส่หน้ากากอนามัย ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ได้กำชับอย่างที่ตน ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ได้ปิดกั้น ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ชุมนุมในสถาบันได้ และผู้บริหารสถาบันอนุญาตเราก็ไม่ได้ว่าอะไร เมื่อถามว่า กระแสข่าวจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อาจมีการใช้พ.ร.บ.ความมั่นคง ห้ามการชุมนุม พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีการพูดถึงตรงนี้ และมองว่าไม่มีความจำเป็น เมื่อการชุมนุมยังอยู่รั้วสถาบัน ส่วน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โพสต์เฟซบุ๊ซในหัวข้อ“ฝากข้อความสุดท้ายถึง ส.ส. ที่เหลืออยู่ของอดีตพรรคอนาคตใหม่” ว่า “ภารกิจสุดท้ายของผมในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คืองานอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล วันนี้ ผมเดินทางไปกับพรรคใหม่ กับพวกคุณ ด้วยไม่ได้ ผมจะให้กำ ลังใจและเฝ้ามองความสำเร็จของพวกคุณอยู่ห่างๆ โดยไม่แทรกแซง และไม่ครอบงำการทำงาน วันนี้ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน “อยู่ไม่เป็น” พวกเขาเสียสละอย่างมาก เพราะมีต้นทุนในชีวิตที่ต้องเสียไปมากกว่า เขาไม่มีเอกสิทธิ์ปกป้องเฉกเช่นเดียวกับ ส.ส.แต่พวกเขาก็ลุกขึ้นมาเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองเชื่อ ดังนั้นการ“ไม่ทรยศประ ชาชน” ของ ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่เพียงพอ ผมขอฝากเพื่อน ส.ส. ที่เคยทำงานด้วยกันว่าคุณต้องทำมาก กว่านั้น ต้องยืนยันหลักการต่อสู้ร่วมกับประชาชน สนับสนุนพวกเขา อย่าให้ตำแหน่งที่คุณมีกลายเป็นโซ่ตรวน เป็น พันธนาการของตัวเอง จงใช้มันเพื่อรับใช้มวลชน ส่วนตัวผม ขอทำหน้าที่รณรงค์ทางความคิด และการเคลื่อนไหวทางสังคมนอกสภา ต่อสู้และต่อต้านระบอบรัฐประหารร่วมกับประชาชนให้ถึงที่สุด” วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจดัชนีการเมืองไทยโดยมีตัวชี้วัดรวม 25 ประเด็น ซึ่งตัวชี้วัดจะช่วยสะท้อนว่าการเมืองไทย ดีขึ้น แย่ลง หรือเหมือนเดิม โดยให้คะแนนเต็ม 10โดยภาพรวม “ดัชนีการเมืองไทย เดือน ก.พ.63” ได้เพียง 3.76 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10เมื่อจำแนกตามตัวชี้วัด 25 ประเด็น เรียงลาดับคะแนนจากมากไปหาน้อย ซึ่งประเด็นที่คะแนนมากที่สุดคือ”การปฏิบัติงานของฝ่ายค้าน” อยู่ที่ 5.41 คะแนน เพิ่มขึ้นจาก 5.30 คะแนนในเดือนม.ค. ส่วนประเด็นที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือ “การแก้ปัญหาความยากจน” อยู่ที่ 3.04 ซึ่งลดลงจาก 3.05 คะแนนในเดือนม.ค.