นายบรรยง วิทยวีรศักดิ์ ประธานสมาคมที่ปรึกษาการเงินแห่งเอเชียแปซิฟิก หรือ APFinSA ได้โพสต์ข้อความและภาพในเฟสยุ๊คส่วนตัว​ "บรรยง​ วิทยวีรศักดิ์"ว่า “แทนคุณแผ่นดินด้วยความคิด อาทิตย์ละหน” ครั้งที่ 6 29/2/2020 กรมธรรม์สะสมทรัพย์ ขุมทรัพย์ใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม :บรรยง วิทยวีรศักดิ์ เมื่อพูดถึงขุมทรัพย์ เรามักนึกถึงแหล่งที่พบสมบัติล้ำค่าที่ถูกซุกซ่อนไว้ แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า หากท่านมีกรมธรรม์สะสมทรัพย์ที่ถือไว้ก่อนปีพศ.2545 ท่านก็เสมือนมีขุมทรัพย์อยู่ในมือเช่นกัน ถ้าท่านโชคดีได้ซื้อกรมธรรม์สะสมทรัพย์ไว้ก่อนปีพศ.2545 ไม่ว่าแบบใด หรือจากบริษัทใด ลองหยิบกรมธรรม์ขึ้นมาพลิกๆดู เริ่มจาก หมวดว่าด้วยเงินคืน ถ้ากรมธรรม์ของท่านมีเงินคืนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์เป็นระยะๆ เช่น คืนทุก 3 ปี หรือทุก5 ปี เขามักจะมีข้อความทำนองว่า “เงินจ่ายคืนรายงวดตามกรมธรรม์แบบสะสม” ซึ่งมีรายละเอียดว่า ท่านสามารถคงเงินนี้ไว้กับบริษัทเพื่อสะสม โดยได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี จนกว่าผู้เอาประกันจะเสียชีวิตหรือกรมธรรม์ครบสัญญา นั่นเท่ากับว่า เงินคืนรายงวดนี้ สามารถฝากไว้กับบริษัทประกันในรูปแบบบัญชีออมทรัพย์ สามารถถอนได้ตลอดเวลา โดยได้ดอกเบี้ยสูงถึง 6% คิดเป็น 2 เท่าของดอกเบี้ยปัจจุบัน ต่อไปลองพลิกไปดูหมวดที่ว่าด้วยเงินครบสัญญา จะมีข้อความทำนองว่า “การจ่ายเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย” หากเจ้าของกรมธรรม์ไม่ประสงค์จะรับเงินได้ตามกรมธรรม์เมื่อกรมธรรม์ครบสัญญา หรือผู้เอาประกันเสียชีวิต เจ้าของกรมธรรม์อาจตกลงกับบริษัทให้จ่ายเงิน โดยวิธีใดวิธีหนึ่งดังนี้ 1. จ่ายดอกเบี้ยซึ่งเกิดจากเงินที่ได้ โดยคิดดอกเบี้ยให้ในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี 2. จ่ายเป็นรายงวดในจำนวนที่กำหนดได้ งวดละเท่าๆกัน เป็นรายปี หกเดือน สามเดือน หรือรายเดือน ตามจำนวนที่เลือกได้ โดยบริษัทคิดดอกเบี้ยให้เงินส่วนที่เหลือในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี 3. จ่ายเป็นรายงวดภายในระยะเวลาที่กำหนด บริษัทจะจ่ายเงินที่ได้เป็นงวด งวดละเท่าๆกัน เป็นรายปี หกเดือน สามเดือน หรือรายเดือน เป็นเวลาไม่เกิน 20 ปี โดยคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 6 ต่อปี ผู้รับเงินตามกรมธรรม์อาจถอนเงินส่วนที่เหลืออยู่ได้ทุกเวลา 4. จ่ายเงินเป็นรายได้ตลอดชีพ บริษัทจะจ่ายเงินที่ได้ให้เป็นงวด งวดละเท่าๆกัน เป็นรายปี หกเดือน สามเดือน หรือรายเดือน ตลอดอายุของผู้รับเงิน จำนวนเงินแต่ละงวดจะขึ้นกับอายุ เพศ ที่ได้กำหนดไว้ให้ในตาราง ถ้าท่านพบข้อความทำนองนี้ ( หรือกรมธรรม์ที่ออกในช่วงปลายปี 2545-2546 บางกรมธรรม์ บางบริษัทอาจจะลดลงมาเป็น 5% บ้าง 4% บ้างก็ไม่เป็นไร) ถือว่าท่านโชคดีได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยปัจจุบันมาก แถมยังไม่ต้องเสียภาษีดอกเบี้ย เพราะประมวลรัษฎากร กำหนดให้เงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้จากจากกรมธรรม์ประกันชีวิต ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ เท่ากับว่าท่านมีขุมทรัพย์ไว้ในมือ จะมากจะน้อยขึ้นกับวงเงินที่ท่านทำไว้ ดังนั้นเวลามีเงินคืนตามกรมธรรม์ หรือเงินครบสัญญา ท่านสามารถแจ้งความจำนงขอฝากเงินเหล่านี้ไว้กับบริษัทประกัน ที่เป็นลักษณะคล้ายบัญชีออมทรัพย์ คือถอนได้ตลอดเวลา แต่ได้ดอกเบี้ยถึง 6 % ในขณะที่ปัจจุบัน หากท่านนำเงินก้อนนี้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล จะได้ดอกเบี้ยเพียง 3.5% ไม่มีสภาพคล่องแถมยังต้องเสียภาษีดอกเบี้ยด้วย หรือหากนำไปฝากธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ยเพียง 1-3% เท่านั้น และยังมีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะลดลงได้ในอนาคต สิทธิ์นี้จะคงอยู่ไปจนกว่าผู้เอาประกันภัยจะเสียชีวิต หรือหากเราใช้สิทธิ์นี้ในเงื่อนไขที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต แล้วผู้รับประโยชน์ขอฝากเงินสินไหมที่ได้ไว้ ก็สามารถคงสิทธิ์นี้ไปจนสิ้นอายุขัยของผู้รับประโยชน์ เรียกว่า ได้ประโยชน์จากขุมทรัพย์นี้ 1 ชั่วอายุคน ส่วนที่มาที่ไป ที่ทำให้บริษัทประกันชีวิตใส่เงื่อนไขนี้ผูกมัดตนเองไว้ เพราะเดิมทีอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ( 10 ปีขึ้นไป) ไม่เคยให้ต่ำกว่า 8 % บริษัทต่างๆจึงขอทำตัวเป็นเสือนอนกิน เสนอบริการรับฝากเงินคืนหรือเงินครบสัญญาจากลูกค้า โดยสัญญาที่จะจ่ายดอกเบี้ยให้ 6% ขณะที่ตนเองจะนำเงินนี้ไปซื้อพันธบัตรรับดอกเบี้ย 8-10% โดยไม่ต้องเหนื่อยยากหรือมีความเสี่ยงใดๆ และมันก็เป็นเช่นนี้มา 40-50 ปีนับตั้งแต่มีธุรกิจประกันชีวิตมา แต่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น ประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ในปี พศ.2540 ธุรกิจล้มละลายจำนวนมาก หลังเศรษฐกิจฟื้นตัว เจ้าของธุรกิจหรือนักลงทุนเริ่มระมัดระวังในการลงทุน รู้จักบันยะบันยัง กู้เงินมาลงทุนเท่าที่จำเป็น ลดการเก็งกำไรลง ให้มีเงินฝากล้นธนาคาร ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้น้อยกว่าที่รับฝากมา ทำให้ดอกเบี้ยลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลตอบแทนพันธบัตรก็ลดลงตามไปด้วย จนลดต่ำกว่า 6% ในช่วงปี พศ.2546 ทำให้ทุกบริษัททยอยยกเลิกเงื่อนไขนี้ในกรมธรรม์ที่ออกขายใหม่ และล่าสุด(วันที่ 26 มค.2555) พันธบัตร 10 ปีให้ดอกเบี้ยเพียง 3.21% พันธบัตร 15 ปีให้ดอกเบี้ย 3.53% พันธบัตร 20 ปีให้ดอกเบี้ย 3.61% และพันธบัตร 50 ปีให้ดอกเบี้ย 4.24% อย่างนี้ต้องเรียกว่าเป็นทุกขลาภของบริษัทประกันชีวิต เป็นพันธนาการที่เกิดขึ้นแบบคาดไม่ถึง แต่ไม่ต้องไปกังวลกับความมั่นคง หรือความสามารถในการหาดอกผลมาจ่ายดอกเบี้ยให้พวกเราหรอกครับ เพราะมาถึงทุกวันนี้ กรมธรรม์ที่ออกใหม่ยกเลิกเงื่อนไขเหล่านี้หมดแล้ว หรือหากมี ก็รับประกันดอกเบี้ยให้เพียง 2% ส่วนกรมธรรม์ที่ได้สิทธิ์พิเศษตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็คงมีจำนวนไม่ถึง 10%ของเงินที่อยู่ในระบบประกันชีวิตทั้งหมด เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตเติบโตอย่างก้าวกระโดดทุกปี จนไม่มีผลต่อการจัดสรรผลตอบแทนให้ผู้ถือกรมธรรม์รุ่นเก่าๆ คนที่ได้ซื้อกรมธรรม์สะสมทรัพย์รุ่นพิเศษนี้ จึงเสมือนถูกหวยโดยไม่รู้ตัว เท่ากับมีขุมทรัพย์ย่อยๆที่ซุกซ่อนไว้ใกล้ตัว แต่ถ้าไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ใช้สิทธิ์ ก็เท่ากับเสียปล่าวครับ หมายเหตุ. บทความนี้เขียนในปี 2555 เมื่อเห็นชัดเจนแล้วว่า โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะขยับสูงขึ้นมีน้อย เนื่องจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป เริ่มทยอยใช้นโยบาย QEหรือ Qualitative Easing โดยการพิมพ์ธนบัตรออกมา แล้วนำไปซื้อพันธบัตรจากสถาบันการเงิน เสมือนการอัดฉีดเงินเข้าระบบ ทำให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องสูง เหมือนได้เงินถูกๆเข้ามา แถมสถาบันเหล่านั้นยังเอาเงินต้นทุนต่ำนี้มาซื้อพันธบัตรและหุ้นไทย กดดอกเบี้ยไทยให้ต่ำเรี่ยดิน ล่าสุด อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรไทย ที่เป็นตัวชี้วัดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ดิ่งต่ำเป็นประวัติการณ์ โดยข้อมูลวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 พบว่า พันธบัตรอายุ 1 ปี ให้ผลตอบแทน 0.91% พันธบัตรอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทน 1.08% พันธบัตรอายุ 20 ปี ให้ผลตอบแทน 1.52% พันธบัตรที่มีอายุยาวที่สุด มีอายุ 47 ปี ให้ผลตอบแทนเพียง 2.05% เท่านั้น หากกรมธรรม์ของท่านเป็นแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ก่อนปีพ.ศ.2545 มันจะทยอยครบสัญญาไปถึงปี พ.ศ.2564 ที่จะได้เงื่อนไขฝากกลับนี้ หลังปีพ.ศ.2565 กรมธรรม์ในลักษณะนี้จะลดน้อยไปมาก เนื่องจากบริษัทประกันชีวิตไหวตัวทันและเลิกเงื่อนไขฝากกลับในปีพ.ศ.2545 เป็นต้นมา เว้นแต่ถ้าท่านทำกรมธรรม์แบบสะสมทรัพย์ครบอายุ 60 ปี หรือ 65 ปี หากท่านทำไว้ตอนอายุ 30 ปี แม้วันที่กรมธรรม์ครบสัญญาจะเป็นหลังปีพ.ศ.2565 เช่น กรมธรรม์จะไปครบสัญญาในปีพ.ศ.2570 (ซื้อปี 2540) เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้รับตอนครบสัญญา ไม่ว่าทุนประกันหรือเงินปันผล จะสามารถนำไปฝากในเงื่อนไขนี้ได้ทั้งหมด (โปรดดูเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกอบด้วย) ยิ่งวันผลตอบแทนที่ได้รับจากกรมธรรม์ยิ่งมีค่า เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยจากธนาคารหรือพันธบัตร เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ได้จากกรมธรรม์รุ่นที่ว่า ล็อคอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดสัญญา และไม่เสียภาษีดอกเบี้ยเสียด้วย