จากสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ได้แพร่กระจายระบาดไปเกือบจะเรียกว่าทั่วโลกก็ได้ขณะนี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยก็มีอันโดนหางเลขจากผลกระทบดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการขยายวงกว้างของจำนวนคนไทยผู้ติดเชื้อ จนกระทั่งสถานการณ์ลุกลามบานปลายไปถึงขั้นหวาดกลัวหรือหวาดวิตกของห้างร้านกิจการต่างๆ แม้แต่สถาบันการเงินปิดกิจการ หรือสาขาทำการก็มีมาแล้ว บางแห่งระส่ำระสาย ถึงกับออกมาตรการขั้นเด็ดขาดเอาผิดกับพนักงานที่เดินทางไปต่างประเทศในระหว่างนี้​ และที่เห็นผลกระทบชัดๆคงจะเป็นการล้มกระดานหรือเลื่อนงานอีเว้นท์ต่างๆออกไป​ รวมถึงการงดจัดประชุมหรือจัดอบรม​ยันดูงานต่างประเทศของสมาคมทางการค้าต่างๆ การประกันภัยถือเป็นเครื่องมือที่พึ่งพาตัวหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการเป็นหลักประกันความเสี่ยงภัยให้กับพี่น้องคนไทยในเวลานี้ก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากบริษัทประกันชีวิตต่างโหมโรงกันออกมาประกาศตัวให้ความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ดังกล่าว นอกเหนือจากกรมธรรม์ประกันชีวิตโดยทั่วไป เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตด้วยโรคอะไร บริษัทประกันชีวิตก็จ่ายให้หมดอยู่แล้ว รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของบรรดาบริษัทประกันวินาศภัยหลายต่อหลายจ้าวที่ออกแคมเปญมาทำตลาดประกันCOVID-19ตามมาเป็นระลอก ไม่ว่าจะเป็นผ่านสถาบันการเงิน หรือผ่านพันธมิตรคู่ค้า ซึ่งงานนี้ถ้าไวรัส COVID-19 เป็นไปตามที่หลายต่อหลายคนคาดหมายว่าจะปิดฉากลงไม่น่าเกินเดือนก.ค. บริษัทประกันฯก็คงจะตีปีกกำไรเป็นล่ำเป็นสันกับผลิตภัณฑ์ตัวนี้ แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อเนิ่นนานออกไปอีก บริษัทประกันคงจะเป็นทุกข์ระทมกันถ้วนหน้าทีเดียว กับตัวเลขเคลมค่าสินไหมที่จะทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ทว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เอาแค่เบื้องหน้าเวลานี้ก่อน ต้องบอกเลยว่า ผลิตภัณฑ์ประกันที่ขายดิบขายดีเทน้ำเทท่า คงจะไม่มีตัวไหนฮอตเท่าประกัน COVID-19 แน่นอน แต่จะมีใครรู้ไหมว่า ผลิตภัณฑ์ประกันตัวนี้มีข้อควรพึงระวังกันในการซื้อ ทำนอง”ใครตาดีได้ ตาร้ายเสีย”กันบ้าง ต่อเรื่องนี้นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน หรือ”ทอมมี่ แอคชัวรี” นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย ได้แนะถึงวิธีเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันตัวนี้ว่า ประการแรกผู้ซื้อควรต้องดูเงื่อนไขความคุ้มครองให้ชัดเจน เพราะบางแบบกรมธรรม์จะคุ้มครองหรือจ่ายให้ในกรณีตรวจว่าได้รับเชื้อ หรือตรวจพบก็จ่ายหรือให้ความคุ้มครองเลย หรือบางแบบคุ้มครองตอนเข้าขั้นโคม่าแล้วค่อยจ่ายก็มี ซึ่งตรงนี้จะต้องพึงอ่านเงื่อนไขในกรมธรรม์ดูให้ดีๆ เพราะบางแผนระบุว่า จะจ่ายก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเข้าขั้นโคม่าแล้วเท่านั้น ซึ่งแผนนี้จึงเป็นเหตุผลให้คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือป่วยเป็นโรคต่างๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะอาจจะเป็นเหตุทำให้อาการโคม่าขึ้นมาและเข้าข่ายเงื่อนไขบริษัทประกันฯจ่ายได้ ประการที่สอง เรื่องของแผนการจ่ายค่าชดเชยอันเนื่องมาจากเชื้อไวรัส COVID -19เช่นกัน จะเริ่มก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันเข้าสู่สภาวะโคม่า ซึ่งโอกาสจ่ายค่อนข้างยาก หากอ้างอิงจากสถิติภายในประเทศไทยตอนนี้ ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อ 38 ราย (>50% หายสนิท และสามารถกลับบ้านได้) จำนวนที่เหลือไม่เกิน 5 รายรักษาตัวอยู่ภายใน ICU และประการที่สามในแง่ของการรักษาพยาบาล ต้องดูด้วยว่า กรมธรรม์ที่ซื้อนั้นจะจ่ายแบบไหน และค่าปลงศพมีไหม บางบริษัทขายบวกอย่างอื่นเข้าไปด้วย เป็นแพกเกจก็มี อาทิเช่น การประกันอุบัติเหตุ เราต้องศึกษากระบวนการจ่ายว่าจะจ่ายในกรณีไหน ขั้นตอนอย่างไร โดยจ่ายเป็นแบบเงินก้อนล่ำซำ หรือจ่ายตามบิลจริงๆ ฟังกันอย่างงี้แล้ว ก็คงจะเป็นข้อพึงระวังสำหรับคนที่คิดจะซื้อประกัน COVID-19 ควรจะรอบคอบกันสักนิด เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจจะกลายเป็นว่า ตั้งใจจะซื้อกรมธรรม์ประกันโคโรน่า แต่กลับกลายเป็นการซื้อกรมธรรม์ประกันโคม่าไปเสียอย่างงั้นครับ