ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศผลประกอบการปี 2562 เติบโตอย่างแข็งแกร่งเหนือกว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่สี่ โดยมียอดรับรู้รายได้ที่ 4,640.93 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้า 13% ในขณะที่บริษัทคงความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้ดีเหนือค่าเฉลี่ยของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในปี 2562 มีกำไรสุทธิ 891.51 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวจากปีก่อนหน้า 15% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องสูงกว่าตลาดตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้คอนเซ็ปท์ “บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี”เปิดเผยว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2562 ภาพรวมมีการหดตัวลง โดยมีปัจจัยลบหลายปัจจัยทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ผลประกอบการในปี 2562 ของผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการหดตัวลง และมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องมาในปี 2563 อย่างไรก็ดีสำหรับลลิลฯมีการบริหารงานอย่างมืออาชีพ พยายามหาช่องว่างตลาด และเข้าถึง Customer Insight โดยคัดสรรทำเลที่มีศักยภาพ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริงจึงทำให้บริษัทยังคงสามารถขยายตัวได้ดีติดต่อกันต่อเนื่องเป็นปีที่สี่ แม้ในภาวะของตลาดอสังหาฯโดยรวมที่ซบเซา โดยสำหรับผลประกอบการปี 2562 บริษัทมียอดรับรู้รายได้ที่ 4,640.93 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งเป็นยอดที่เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 13% ในแง่ของการบริหารจัดการต้นทุน บริษัทยังคงรักษามาตรฐานในการบริหารงานจัดการต้นทุนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อเนื่อง ไม่ว่าเป็นในเรื่องของการจัดหาที่ดิน การบริหารต้นทุนการก่อสร้าง ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนขายและบริหาร ตลอดจนการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน ส่งผลให้ในปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 891.51 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 15% ทั้งนี้ในแง่ของโครงสร้างเงินทุน ณ สิ้นปี 2562 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ระดับเพียง 0.75 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ราว 1.4 เท่าอย่างมาก โดยระดับ D/E Ratio ของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 แทบไม่เปลี่ยนแปลงจาก ณ สิ้นปี 2561 ถึงแม้ว่าบริษัทจะมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับในปี 2562 มีการลงทุนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 9 โครงการ มูลค่าโครงการรวมสูงกว่า 6,500 ล้านบาท แต่การบริหารจัดการให้เกิด Economy of speed ช่วยให้รอบของเงินทุนหมุนได้จำนวนรอบมากขึ้น จึงช่วยให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ของบริษัทไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเงินอย่างรัดกุม โดยมีการใช้แหล่งเงินกู้ที่หลากหลายทั้งระยะสั้น และระยะยาว ตลอดจนมีการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง ทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่ครบกำหนดชำระ ล่าสุดบริษัทเพิ่งมีการออกหุ้นกู้อายุ 3 ปี มูลค่า 500 ล้านบาทไปเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ 2.9% โดยในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบจัดสรรกำไรสำหรับปี 2562 ให้กับผู้ถือหุ้น โดยเสนอให้จ่ายเงินปันผลทั้งปีในอัตราหุ้นละ 0.385 บาท ซึ่งหากคิดที่ราคาหุ้นปัจจุบัน คิดเป็น Dividend Yield อยู่ที่ราวเกือบ 8.0% โดยบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วที่ 0.175 บาท ดังนั้นจะเหลือจ่ายเพิ่มอีก 0.21 บาทต่อหุ้น โดยได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 16 มีนาคม 2563 (หรือขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 13 มีนาคม 2563)และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้การจ่ายปันผลดังกล่าวต้องนำเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ในเดือนเมษายนนี้