ดร.สุพิศ ปราณีตพลกรัง เผยแพร่บทคความ เรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ Covid 19 ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอีกต่อไป เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือวิธีการรักษายังไม่แน่ชัด ผลจากการนี้ทำให้เศรษฐกิจปั่นป่วนไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะการติดต่อค้าขาย การท่องเที่ยว การเดินทาง เพราะมีโอกาสที่จะได้รับเชื้อหรือมีการติดต่อโรคกันได้ ทำให้นึกถึงอดีตที่มนุษย์เรายังไม่รู้จักโรคอหิวาตกโรค ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ด้วยความแปลกใจว่าทำไมผู้คนจึงท้องเสีย ถ่ายไม่หยุด และล้มตายกันเหมือนใบไม้ร่วง ประเทศไทยเราก็ผ่านประสบการณ์อันสยดสยองนี้ ดังที่เรียกกันว่า โรคห่า หรือห่าลง เรามีเรื่องของโรคห่า ทำให้ผู้คนล้มตายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ที่เกิดเหตุติดต่อกันก็มีในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ซึ่งก็แก้ไขกันตามสถานการณ์และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการในแต่ละยุคแต่ละสมัย มีทั้งการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 มีการตั้งพิธี “อาฏานาฏิยสูตร”(พระพุทธมนต์ที่เชื่อกันว่าสามารถป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวงได้ บางแห่งกล่าวไว้ว่า สามารถป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทั้งยังทำให้มีสุขภาพดีและมีความสุข) ยิงปืนใหญ่รอบพระนครคืนหนึ่งยันรุ่งและทรงอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมธาตุ ทั้งพระราชาคณะออกแห่โปรยทราย ประพรมน้ำมนต์ทางบกและทางเรือ และได้ทรงปล่อยปลา สัตว์ 4 เท้า 2 เท้า ปล่อยคนต้องโทษ โรคที่ระบาดหนักก็เบาบางลง รวมมีคนตายในกรุงเทพ ฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณ 30,000 คน มี สมัยต่อมาก็มีการการใช้หยูกยา แต่จำนวนคนตายนั้นมีมากมาย ผู้คนอพยพโยกย้ายออกจากเมืองหลวง กระทั่งพระก็ต้องทิ้งวัด คนป่วย คนตายมีมาก จนกระทั่งมีปัญหาการจัดการเรื่องศพ เผาจนไม่มีฟืนเผา ก็เลยเอาไปทิ้งน้ำ กลายเป็นสำนวน เอาไปทิ้งน้ำ คือของอะไรที่ไม่ดีก็เอาไปทิ้งน้ำเสียเสีย ศพมีมากมายเกลื่อนกลาดก็เลยเป็นอาหารของพวกแร้งมาจิกกิน กลายเป็นภาพที่น่าอเนจอนาถ โดยเฉพาะย่านวัดสระเกศ กลายเป็นที่มาของคำว่า แร้งวัดสระเกศ ประเทศไทยเราเพิ่งจะปลอดจากโรคอหิวาตกโรคหรือควบคุมได้เมื่อปี 2532 นี้เอง มาว่ากันถึง Covid 19 ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่า เป็นห่ายุคใหม่ เป็นห่ายุคดิจิทัล ความรุนแรงน่ากลัวก็เลยมีมาก และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของชาวเอเชีย ต่างกับในอดีตที่โรคภัยไข้เจ็บชนิดแปลก ๆ มักจะเกิดทางด้านทวีปแอฟริกา แต่นี่เกิดที่จีนแล้วแพร่มาถึงไทย และไปทั่วทุกภูมิภาคตามการเคลื่อนย้าย เดินทางของประชากร กลายเป็นว่าจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกประเทศ มองในแง่ของประเทศไทยเรา ถือว่าเราตั้งรับสถานการณ์ได้ดีในระดับหนึ่ง เพราะมีการติดตาม เฝ้าระวังมาตั้งแต่ต้น แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่อยู่ในขั้นการทรงตัวก็ยังน่าเป็นห่วง ทุกคนตระหนักในพิษภัย แต่ก็ขาดการดำเนินการในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน ในขณะที่บางคนก็อาจจะไม่สนใจ กลายเป็นบุคคลที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้รับเชื้อมาแล้ว เป็นพาหนะนำเชื้อกระจายออกไปอีก หน่วยงานของรัฐเลยมีภาระทั้งในด้านของการป้องกันและรักษา ซึ่งอาจจะไม่ทันการณ์กับปัญหาที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดำเนินการที่ชัดเจน มีศูนย์กลางให้ข้อมูลที่ถูกต้อง บริการสาธารณะต่าง ๆ รถเมล์ รถไฟ เครื่องบิน ต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความสะอาด ปลอดภัย มิใช่มีเพียงเจลล้างมือ 1 ขวด ติดไว้ที่ประตูรถ ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า สถานที่สาธารณะ โรงเรียน ต้องมีการฉีดพ่นยาหรือไม่ ในความถี่ระดับใด และที่สำคัญคือการให้ข้อมูล การกำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้ประชาชนปฏิบัติและสามารถมีขวัญและกำลังใจที่ดี ไม่ใช่ได้ยินเสียงใครไอ จาม ก็ตื่นระหนก หวาดผวาจนประสาทจะหลอน หน้ากากอนามัยก็ควรจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีการแจกจ่ายได้ทั่วถึงและพอเพียง เพราะเป็นเครื่องป้องกันรายบุคคล คนงานต่างด้าวที่ไม่ใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ก็ต้องดูแลแก้ไขปัญหา เพราะทุกคนเป็นพาหนะหรือรับเชื้อได้ทั้งสิ้น การแพร่ระบาดเป็นไปได้อย่างทั่วถึง รอดด้วยกัน ตายด้วยกัน ไม่ใช่ภัยน้ำท่วมที่จะเลือกป้องกันเป็นจุด ๆ ได้ จึงต้องสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการฝ่าฟันปัญหา เพราะโดยสภาพข้อเท็จจริงแล้วกรณีนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้โดยแท้