มรภ.ราชนครินทร์ จัดสัมมนา ชี้ท้องถิ่นจะเจริญได้ ต้องใช้คนเข้าไปบริหารเงิน ขึ้นอยู่กับประชาชน จะให้ใครเข้าไปดูแลงบประมาณนับพันล้านบาทต่อปี เมื่อวันที่ 26 ก.พ. สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มรภ.ราชนครินทร์ จัดสัมมนา ในหัวข้อเรื่อง "นโยบายการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้บริบทพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)" โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันติศิริมงคล ภาควิชารัฐศาสตร์ ม.บูรพา นายกลยุทธ ฉายแสง นายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา จ่าเอกยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ นายกเทศมนตรีตำบลบางผึ้ง โดยมี นายนพพร ขุนค้า อ.ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มรภ.ราชนครินทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ มีนักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 200 คน ณ อาคารราชนครินทร์ชั้น4 (ตึกโรงอาหาร) ห้องศรีสยาม มรภ.ราชนครินทร์ อ.เมืองฉะเชิงเทรา สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมฟังสามารถร่วมกิจกรรม นำเสนอข้อคิดเห็นได้ เพื่อให้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ และมาช่วยกันพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เป็นเมืองน่าอยู่ในอนาคต ทั้งนี้ จ.ฉะเชิงเทรา มีองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด 110 แห่ง แบ่งออกเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 1 แห่ง เทศบาลเมือง (ทม.) 1 แห่ง เทศบาลตำบล (ทต.) 33 แห่ง และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 74 แห่ง ซึ่งการจัดสรรงบประมาณ ที่สามารถนำมาบริหารจัดการได้นั้นแตกต่างกัน ตามลักษณะพื้นที่มีรายได้จากการจัดเก็บภาษี บางแห่งจึงมีเพียงค่าบริหารจัดการ รายจ่ายประจำประเภทเงินเดือน สวัสดิการต่างๆ แต่ไม่มากพอเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาพื้นที่ ในขณะที่บางแห่งมีงบประมาณจำนวนมาก และมากที่สุดเห็นจะเป็น อบจ.นครราชสีมา ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีงบประมาณการกว่า 3,200 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นงบมากที่สุดในภูมิภาค ส่วน อบจ.ฉะเชิงเทรา มีเงินอุดหนุน รวมภาษีที่จัดเก็บจากน้ำมัน และภาษีล้อเลื่อน รวมกันแล้วกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งฝ่ายบริหารสามารถนำเงินมาสร้างความเจริญให้กับท้องถิ่นปรับตัวรองรับ EEC แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าใครจะเข้าไปนั่งบริหาร เป็นนายก อบจ. ซึ่งเท่ากับว่าท้องถิ่นจะเจริญได้ต้องพึ่งพาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ถ้าได้คนดีมีความสามารถเข้าไปบริหาร ใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อส่วนรวม เชื่อว่าบ้านเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกจังหวัด.