วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา รองศาสตราจารย์ ดร.ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา เป็นประธานในการนำคณะผู้บริหาร, คณาจารย์, เจ้าหน้าที่ ประกอบกิจกรรมประกาศเจตจำนงสุจริตในการบริหารงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธาตรี มหันตรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ เพื่อแสดงเจตนารมณ์หรือคำมั่นของผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบันว่าจะปฏิบัติหน้าที่และบริหารหน่วยงานอย่างซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใสและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมของผู้บริหารสูงสุดคนปัจจุบันและผู้บริหารทุกระดับในการให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพัฒนาหน่วยงานด้านคุณธรรมและโปร่งใส เพื่อสร้างจิตสำนึกในการเกรงกลัวต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูสิทธิ์ ประดับเพ็ชร์ อธิการบดีฯ ได้กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาบริหารงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ตามหลักธรรมาภิบาลให้ครบถ้วนทุกประการ อย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ พร้อมรับผิดชอบ โดยมีแนวทางและดำเนินงาน ดังนี้ 1.ดำเนินงานตามแนวนโยบายเพื่อคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ดังนี้ 1) การปฏิบัติหน้าที่ 2) การใช้งบประมาณ 3) การใช้อำนาจ 4) การใช้ทรัพย์สินของราชการ 5) การแก้ไขปัญหาการทุจริต 6) คุณภาพการดำเนินงาน 7) ประสิทธิภาพการสื่อสาร 8) การปรับปรุงระบบการทำงาน 9) การเปิดเผยข้อมูล และ 10) การป้องกันการทุจริต 2.ปฏิบัติงานทุกขั้นตอนตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับอย่างครบถ้วน เคร่งครัดตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติงานตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่กำหนดไว้ 3.ปลูกฝังและสร้างความตระหนักรู้ ค่านิยมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รู้จักแบ่งแยกประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมให้เกิดจิตสำนึกในด้านคุณธรรมและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในหน่วยงาน รวมถึงมีการถ่วงดุลตรวจสอบภายในที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้บุคลากร ในมหาวิทยาลัย ตระหนักถึงผลร้ายและความเสียหายจากภัยของการทุจริตคอร์รัปชั่นต่อมหาวิทยาลัย และประเทศชาติ ให้เกิดวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างยั่งยืน 4.ไม่ยอมรับพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่น และไม่อดทนต่อการกระทำทุจริตที่ก่อให้เกิดการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) อันจะส่งผลให้บุคลากรในมหาวิทยาลัย เกิดความละอายหรือความเกรงกลัวที่จะกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น 5.ปลูกฝังจิตสำนึกของบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ให้รู้จักแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ให้ทุกคนมุ่งประพฤติดีปฏิบัติชอบ ปฏิเสธคอร์รัปชั่นและสิ่งชั่วร้าย ช่วยกันสร้างและส่งเสริมคนดี รวมทั้งจะต่อต้านการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังตลอดไป วัชระ บุญแท้/พระนครศรีอยุธยา