ภาคีเครือข่ายองค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมช่างท้องถิ่นไทย สมาพันธ์ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาพันธ์รองปลัดท้องถิ่นไทย สมาพันธ์อำนวยการท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) และชมรมวิเคราะห์นโยบายและแผนท้องถิ่น เปิดแถลงการณ์ คัดค้านหลักเกณฑ์การเทียบโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยมีข้อความระบุว่า ตามที่คณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) กำหนดพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ในวันที่ ๒๗ ภาพันธ์ 2563 ตามประกาศของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.) นั้น ภาคีเครือข่ายองค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมช่างท้องถิ่นไทย สมาพันธ์ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาพันธ์รองปลัดท้องถิ่นไทย สมาพันธ์อำนวยการท้องถิ่นแห่งประเทศไทย ชมรมนิติกรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรมพัฒนาชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (แห่งประเทศไทย) และชมรมวิเคราะห์นโยบายและแผนท้องถิ่น ในนามตัวแทนของข้าราชการส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ไม่เห็นพ้องด้วยกับประกาศและบัญชีเทียบระดับตำแหน่งเพื่อรับโอนข้าราชการตามกฎหมายอื่นมาบรรจุเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นแนบท้ายประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจาก 1.การเทียบตำแหน่งตามบัญชีนี้ไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องหรืออาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๒๕๑ ซึ่งบัญญัติให้การบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องใช้ระบบคุณธรรม คำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละรูปแบบ โดยให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกันเพื่อให้นำไปสู่การพัฒนาร่วมกันหรือการสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ จึงจะเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ได้บัญญัติให้ความสำคัญกับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันให้มีขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติหน้าที่ สามารถจะพัฒนาทักษะประสบการณ์ของตนเองเพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นตามลำดับ ดังนั้น การกำหนดหลักเกณฑ์ฉบับนี้รวมทั้งบัญชีแทบท้าย จึงเป็นการลิดรอนสิทธิของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทำลายขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการขัดขวาง ตัดตอน ความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเป็นการละเมิดหรือขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง บัญชีการเทียบตำแหน่งดังกล่าวที่เทียบตำแหน่งของข้าราชการพลเรือนสูงกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ข้าราชการทั้งสองประเภทมีหน้าที่บริการสาธารณะเหมือนกัน ภาระงานเหมือนกัน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม อันขัดต่อมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย 2.ตามมาตรา ๓๓ (๑) ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ มีเจตนารมณ์ให้องค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นได้ยึดถือหลักคุณธรรมเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล แต่การออกหลักเกณฑ์นี้ มีความขัดแย้งกับหลักคุณธรรมอย่างชัดเจน เพราะหลักคุณธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบคุณธรรม (THE MERIT SYSTEM) ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น มีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ หลักความเสมอภาคในโอกาส หลักความสามารถ และหลักความมั่นคงในอาชีพ กล่าวคือ (๑) ความไม่เสมอภาคในโอกาส เนื่องจากข้าราชการส่วนท้องถิ่นหากมีความประสงค์ต้องการย้ายเปลี่ยนสายงานจากสายงานวิชาการเป็นสายงานอำนวยการและสายงานบริหารนั้น ต้องใช้วิธีสอบคัดเลือก โดยคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) ได้วางหลักเกณฑ์ปิดกั้นโอกาสกรณีที่ผู้ขอย้ายเปลี่ยนสายงานมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งในระดับชำนาญการไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แต่หลักเกณฑ์และบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์ฉบับนี้ได้ให้สิทธิพิเศษแก่ข้าราชการพลเรือนในระดับชำนาญการเหนือกว่าข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพราะสามารถโอนมาเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสายงานอำนวยการในระดับต้นได้ทันที จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาค ไม่เป็นธรรม เป็นการกีดกันความเจริญก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่น และเปิดช่องให้มีการรับโอนข้าราชการประเภทอื่นโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการสอบ (๒) กีดกันความสามารถของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นในสายงานอำนวยการและสายงานบริหารจะได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ต้องใช้วิธีสอบคัดเลือก โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เงินเดือน ประสบการณ์ และผลงานในด้านบริหารงานท้องถิ่น แต่จากบัญชีแนบท้ายหลักเกณฑ์นี้กลับเปิดช่องให้ข้าราชการพลเรือนซึ่งมีระดับตำแหน่งที่ต่ำกว่า และคนละสายงาน สามารถโอนมาดำรงตำแหน่งในสายงานอำนวยการและสายงานบริหารได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านระบบการสอบคัดเลือก หลักเกณฑ์นี้จึงเป็นการกีดกันความสามารถของข้าราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นธรรมกับข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ เป็นการลดเกียรติศักดิ์ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ตอกย้ำความด้อยโอกาสและตอกย้ำความรู้สึกอัดอั้นตันใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่มีมุมมองว่า ถูกข้าราชการพลเรือนกดขี่มาอย่างต่อเนื่องโดยผ่านกระบวนการที่ข้าราชการพลเรือนเหล่านั้น เป็นผู้กำหนดกฎในการบริหารงานบุคคลทั้งในระดับมาตรฐานกลาง มาตรฐานทั่วไป และหลักเกณฑ์ทั่วไปที่ผ่านมติของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (กถ.) คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) และคณะกรรมการข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นจังหวัด (ก.จ.จ./ก.ท.จ./ก.อบต.จังหวัด) (๓) ขาดความมั่นคงในอาชีพ การประกาศใช้หลักเกณฑ์ฉบับนี้ นอกจากเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจของข้าราชการส่วนท้องถิ่นอย่างมากแล้ว ยังสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลที่มีคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรกลาง สั่นคลอนความมั่นคงในอาชีพของข้าราชการส่วนท้องถิ่น ที่มีความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ แต่หากมีการเปิดช่องให้มีการรับโอนข้าราชการประเภทอื่นที่มีระดับตำแหน่งต่ำกว่าระดับตำแหน่งของข้าราชการส่วนท้องถิ่นมาดำรงตำแหน่งในสายงานบริหารและสายงานอำนวยการได้ จะทำให้โอกาสในการเจริญเติบโตก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้นของข้าราชการส่วนท้องถิ่นลดลง เพราะอาจมีข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการประเภทอื่นจำนวนมากโอนมาดำรงตำแหน่งเหล่านั้นแทน ด้วยเหตุผลข้างต้น ภาคีเครือข่ายองค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่น ๘ องค์กรข้างต้น จึงขอคัดค้านหลักเกณฑ์การเทียบโอนดังกล่าว ทั้งนี้ พวกเราข้าราชการส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มิได้รังเกียจหรือกีดกันข้าราชการตามกฎหมายอื่นที่ประสงค์จะโอนมารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ประการใด เพียงแต่เห็นว่า ข้าราชการตามกฎหมายอื่นที่ประสงค์จะโอนมารับราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปฏิบัติเช่นเดียวกันกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ การรับโอนสายงานทั่วไป และสายงานวิชาการ สามารถโอนได้ตามตำแหน่งที่เทียบเคียงเสมอกัน ในระดับตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไม่สูงกว่าเดิม สำหรับตำแหน่งสายงานผู้บริหาร (สายงานบริหารและอำนวยการ) ผู้ขอโอนต้องผ่านกระบวนการสอบคัดเลือก หรือการคัดเลือกเช่นเดียวกันกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยต้องสมัครเข้ารับการสรรหาโดยวิธีการสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกที่คณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) กำหนดขึ้นในสนามสอบคัดเลือกหรือคัดเลือกเดียวกันกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น หากข้าราชการตามกฎหมายอื่นได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแล้ว ก็ชอบที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะพึงรับโอนมาดำรงตำแหน่งในสายงานผู้บริหารได้ตามความประสงค์ ภาคีเครือข่ายองค์กรข้าราชการส่วนท้องถิ่น 8 องค์กร จึงขอเรียกร้องมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท. และ ก.อบต.) และกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปลัดเทศบาล และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ใน ก.จ. ก.ท. และ ก.อบต. ได้ทบทวนร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำกันระหว่างข้าราชการตามกฎหมายอื่นกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่ปัญหาที่ไม่จบสิ้นในอนาคต ทั้งนี้ หากคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.จ./ก.ท./ก.อบต.) ยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องของภาคีเครือข่ายฯ ภาคีเครือข่ายฯทั้ง 8 องค์กรจักได้ยกระดับการคัดค้านในเรื่องดังกล่าวต่อไป ++++++++++++++++++++