บัณฑิตรุ่น 17 ปีนี้มีบัณฑิตแพทยศาสตร์รุ่นแรก พร้อมพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี และปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาการระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.63 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2561 ณ หอประชุมสมเด็จย่า โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ทั้งระดับบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต 2,571 คน (จากจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 2,816 เป็นต่างชาติ 105 คน)  จากสำนักวิชานิติศาสตร์, วิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง, วิทยาศาสตร์สุขภาพ, พยาบาลศาสตร์, นวัตกรรมสังคม, จีนวิทยา, การแพทย์บูรณาการ, ศิลปศาสตร์, การจัดการ, เทคโนโลยีสารสนเทศ, อุตสาหกรรมเกษตร และปีนี้เป็นปีแรกที่แพทยศาสตร์มีบัณฑิตเป็นรุ่นแรก 32 คน พร้อมก้าวสู่การเป็นแพทย์ทำงานใกล้ชิดชุมชน ในการนี้ สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.วันชัย ศิริชนะ เข้ารับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ ในโอกาสนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ประจำปีนี้. ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ. บัณฑิตทั้งหลายได้ศึกษาเล่าเรียนมาในสาขาวิชาต่าง ๆ ย่อมมีความรู้ความสามารถและทักษะความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน. การรู้จักตนเองตามเป็นจริงว่า ตนมีความรู้ ความสามารถและความถนัดในด้านใด มากน้อยเพียงใดนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้คนเราสามารถนำศักยภาพที่มีอยู่ ไปใช้ได้ถูกต้องกับงานหรือกิจการต่าง ๆ ที่ทำ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จผลเป็นประโยชน์สูงสุดอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ฝึกฝนความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติ และเพิ่มพูนประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ อยู่เสมอ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถ และความชำนาญจัดเจน ที่ยิ่งสูงขึ้น กว้างขวางขึ้น เป็นประโยชน์ต่องานยิ่ง ๆ ขึ้นไป. การรู้จักตนเองดังที่กล่าว เป็นคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งส่งเสริมให้บุคคลมีชีวิตที่เจริญก้าวหน้าและผาสุกมั่นคงอย่างเท้จริงได้. บัณฑิตทุกคนจึงควรพิจารณาให้รู้จักตนเองตามเป็นจริง จะได้สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ตน แก่สังคม และแก่ประเทศชาติได้สืบไป ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน และผู้มาร่วมในพิธีนี้ทุกท่าน  ประสบความสุขสวัสดี พร้อมทั้งความเจริญรุ่งเรืองโดยทั่วกัน” นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี  ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังอาคารวันชัย ศิริชนะ ภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งได้ทอดพระเนตรนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยเตรียมไว้ในหัวข้อ ‘นิทรรศการตามรอยพระราชดำริ’ โดยมี รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้บริหาร คณาจารย์ ถวายรายงาน นิทรรศการได้อธิบายถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนินงานด้านบริการวิชาการตามพันธกิจตั้งแต่ พ.ศ. 2541 จวบจนปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 ผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งสำนักวิชา ศูนย์ และหน่วยงานสนับสนุน เพื่อนำองค์ความรู้ถ่ายทอดสู่ชุมชนในด้านต่างๆ เกิดการพัฒนา สร้างความเข้มแข็งและให้ชุมชนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ตามรอยพระราชดำริ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา 510 โครงการ งบประมาณกว่า 56 ล้านบาท, ด้านการสาธารณสุข 377 โครงการ งบประมาณกว่า 72 ล้านบาท, ด้านสิ่งแวดล้อม 73 โครงการ งบประมาณกว่า 6.3 ล้านบาท และด้านอาชีพ 327 โครงการ งบประมาณกว่า 6 ล้านบาท ในด้านการศึกษา ได้ส่งเสริมการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้สูงอายุที่มหาวิทยาลัยได้เข้าไปจัดกิจกรรมกับผู้สูงอายุในชุมชนรอบใกล้มมหาวิทยาลัย มีผลให้ผู้สูงอายุคุณภาพชีวิตดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้จากการมีอาชีพเสริมมีความรู้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง และยังนำความรู้ไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ ด้านสาธารณสุข เป็นโครงการวิจัยดำเนินการในอำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอที่มีกลุ่มผู้สูงอายุชาวไทยภูเขาอาศัยอยู่มากที่สุดในจังหวัดเชียงราย ศึกษาพบสถานะสุขภาพของผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและการดูแลสุขภาพส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ ทั้งจัดเวทีสาธารณะเพื่อระดมความคิดหาแนวทางแก้ปัญหาและจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม จากปัญหาหมอกควันในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนและในเขตภูมิภาคใกล้เคียงเนื่องจากไฟป่า มหาวิทยาลัยได้ตั้งศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาเกิด ไฟป่าหมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาคขึ้น สร้างความตระหนักถึงปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมศึกษาแนวทางลดการเผาป่าในภาคเหนือตอนบน ทั้งให้ความรู้เยาวชนและฝึกอบรมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียน 11 แห่ง ให้สามารถเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม1,207 คน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดฝุ่นที่พัฒนาขึ้นโดยสำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไว้ในชุมชนและสถานศึกษาเพื่อสร้างการรับรู้ถึงสภาพปัญหา พร้อมผลิตสื่อแนวทางการป้องกันตัวด้วยภาษาถิ่น ตลอดจนประสานกับกองทัพอากาศนำอากาศยานไร้คนขับมาปฏิบัติการประเมินสถานการณ์ไฟป่าในช่วงเผชิญเหตุที่จะถึงนี้ ด้านอาชีพ ได้ร่วมกับหมู่บ้านห้วยหินลาดในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า ได้สร้างอาชีพสร้างรังผึ้งที่ พัฒนาอาหารจากฐานภูมิปัญญาที่ทำจากน้ำผึ้งและส่วนประกอบจากผลผลิตท้องถิ่น ตลอดจนผลิตลิปบาล์มจากน้ำผึ้งและไขผึ้ง เป็นสินค้าชุมชนช่วยกองทุนรักษาป่าเพิ่มรายได้เพื่อใช้ทำกิจกรรมในวงกว้างมากขึ้น