เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายกวีวัฒน์ประสมทรัพย์ สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพังงานำสื่อมวลชนเข้าดูสวนลูกจันทน์เทศบริเวณ หมู่ 3 ต.ถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา ซึ่งเป็นผลไม้ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ตำบลถ้ำน้ำผุดมายาวนานโดยต้นลูกจันทน์เทศ ส่วนใหญ่ชาวบ้านได้ปลูกไว้เพื่อบริโภคภายในครัวเรือนต้นให้ร่มเงาดี ให้ผลตลอดทั้งปี ชาวบ้านในพื้นที่ได้รวมกลุ่มกันพร้อมนำลูกจันทน์เทศเข้าแปรรูป ส่วนใหญ่จะนำแช่อิ่มอบแห้งและที่นิยมสำหรับผู้บริโภคมากที่สุดคือการแกะสลักผลจันทน์เทศ เป็นดอกพิกุล ดอกบัว โดยฝีมือชาวบ้านในพื้นที่ เริ่มตั้งแต่การเก็บผลจันทน์เทศต้องหาผลที่มีความสมบูรณ์ลูกใหญ่โตตามความต้องการ ไม่ให้ผลร่วงหล่นตกลงพื้น นำมาล้างให้สะอาด ดองด้วยน้ำเกลืออย่างน้อย 1 คืนเพื่อให้ยางของลูกจันทน์เทศเจอจางลง จากนั้นนำมาปลอกเปลือกโดยคำนึงถึงให้ผลกลมเนื้อเรียบเพื่อง่ายต่อการแกะสลัก จากนั้นแช่น้ำเกลือไว้อีกอย่างน้อย2-4 ชั่วโมงก่อนจะใช้ฝีมือในการแกะสลักขึ้นดอก ส่วนใหญ่ชาวถ้ำน้ำผุดจะแกะสลักเป็นดอกพิกุลและดอกบัวเนื่องจากความสวยงามของผลที่แกะสลักออกมาแล้วให้ความสวยงามและโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง การแปรรูปจันทน์เทศที่แกะสลักแล้ว สามารถนำแปรรูปเป็น ลูกจันทน์เทศแช่อิ่มได้สามารถเก็บไว้ได้นานนับเดือน โดยที่นิยมในการบริโภคของประชาชนทั่วไป คือ เส้นลูกจันทน์อบแห้ง โดยขั้นการเก็บ นำเข้าดองน้ำเกลือ ปลอกเปลือกหั่นเป็นเส้น แล้วทำการแช่อิ่มจากนั้นจึงตากแดดจนแห้งคลุกน้ำตาล เกลือ และพริกป่น ทำเป็นลูกจันทน์สามรส แล้วบรรจุภัณฑ์วางจำหน่าย เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมากเนื่องจากรสชาติมีความหอมหวานเผ็ดร้อนชุ่มคอโดยมีสรรพคุณมากมายทั้งโภชนาการเป็นยารักษาอวัยวะต่างๆลูกจันทน์แกะสลักจะจำหน่ายดีในช่วงเทศกาลต่างๆนิยมซื้อเป็นของฝากผู้หลักผู้ใหญ่ราคาลูกจันทน์เทศแกะสลักลูกละ 35 – 40 บาท ส่วนลูกจันทน์เส้นแห้ง ราคา ถุงละ 30 – 40 บาท ประชาชนทั่วไปนิยมบริโภค ปัจจุบันการผลิตและแปรรูปลูกจันทน์เทศ ในพื้นที่ถ้ำน้ำผุด มีน้อยลง เพราะขั้นตอนการผลิตใช้เวลามาก ซึ่งสวนกระแสกับความต้องการของตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้น ก่อนหน้านี้ประเทศมาเลเซีย มีความต้องการสูงขณะที่เกษตรกรต่างพื้นที่ไม่ใช่ลูกจันทน์เทศเนื่องจากหายากขึ้นจึงนำเนื้อมะละกอมาอบแห้งและปรุงรสปรุงกลิ่น วางจำหน่ายจนลูกค้าไม่เชื่อถือตลาดลูกจันทน์จึงซบเซาลงแต่ยังมีความต้องการของผู้บริโภคอีกจำนวนมากที่เชื่อถือกลุ่มผู้ผลิตในพื้นที่ติดต่อสั่งออร์เดอร์โดยตรงซึ่งสามารถติดต่อได้ที่กลุ่มลูกจันทน์เทศตำบลถ้ำน้ำผุด อ.เมือง จ.พังงา หรือ สภาเกษตรกรจังหวัดพังงา โดย นายกวีวัฒน์ ประสมทรัพย์ อายุ 62 ปี สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดพังงา กล่าวว่าสำหรับลูกจันทน์แกะสลัก และ ลูกจันทน์เส้นอบแห้งตนเองได้สืบทอดการผลิตการแปรรูปมาจาก แม่ และ พี่สาว ใช้วิธีนั่งดู ครูพักลักจำจนฝึกฝนสืบทอดให้ลูก หลาน และคนในพื้นที่ที่ปลื้มใจที่สุดคือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงรับสั่งให้นำลูกจันทน์แกะสลักถวายเป็นประจำ เนื่องจากทรงโปรด อีกทั้งสรรพคุณและประโยชน์ในการบริโภคมีมากมายซึ่งลูกจันทน์ที่ตนเองได้แปรรูปมีมากถึง19 ชนิดไม่ว่าลูกจันทน์อบแห้งลูกจันทน์สามรส ลูกจันทน์กวน ไวน์ลูกจันทน์ และอื่นๆอีกมากมาย