ก.อุตฯ ร่วมกับจังหวัด เคาะหลักเกณฑ์กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ เตรียมอัดฉีด SMEs เบื้องต้น จังหวัดละ 100 ล้านบาท และ 10 กลุ่มอุตฯ S-Curve ตามหลักการ Local Economy ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ได้มีความคืบหน้าในส่วนของการดำเนินการต่าง ๆ ไปถึงในระดับจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยล่าสุดได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะอนุกรรมการในระดับส่วนกลาง ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำจังหวัด ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือพร้อมทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงหลักในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้และการกำหนดรูปแบบวงเงินที่สมควรอนุมัติ ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับกรอบวงเงินและเป้าหมายการให้ความช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีนั้น เบื้องต้นได้แบ่งไว้ทั้งหมด 3 ส่วน โดยส่วนแรกได้จัดสรรให้ได้รับในจำนวนที่เท่ากันทุกจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการกระจายการพัฒนาให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ คือ จังหวัดละ 100 ล้านบาท ส่วนที่สองคือการจัดสรรตามสัดส่วนของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ซึ่งได้จำนวนและวงเงินที่จัดสรรแตกต่างกันไปตาม 4 กลุ่ม คือ · กลุ่มที่ 1 GPP ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 62 ราย วงเงิน 186 ล้านบาท (54 จังหวัด) · กลุ่มที่ 2 GPP ตั้งแต่ 100,001 – 500,000 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 68 ราย วงเงิน 204 ล้านบาท (19 จังหวัด) · กลุ่มที่ 3 GPP ตั้งแต่ 500,001 ล้านบาท ขึ้นไปได้รับจัดสรร 75 ราย วงเงิน 225 ล้านบาท (3 จังหวัด) · กรุงเทพฯ GPP 4,437,405 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 85 ราย วงเงิน 255 ล้านบาท ส่วนสุดท้ายคือ เงินสำรองในส่วนกลางที่จะทำการจัดสรรเพื่อการร่วมลงทุน และสำหรับกิจการที่มีความสำคัญที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ และกลุ่มธุรกิจหลักที่เป็นกลุ่ม 10 S-Curve หรือที่เชื่อมโยงและจะพัฒนาไปสู่กลุ่ม 10 S-Curve หรือธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดที่บางพื้นที่อาจมีความต้องการเพิ่มเติม ซึ่งจะจัดสรรให้ในโอกาสต่อไปอีกกว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ธุรกิจที่ไม่เข้าข่ายในการให้การสนับสนุน ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจผิดกฎหมาย ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม นายพรเทพ การศัพท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอสเอ็มอีเข้าโครงการ ว่าอำนาจการพิจารณาทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐประจำจังหวัดต่าง ๆ เป็นหลัก ซึ่งรวมทั้งกรุงเทพฯ โดยการพิจารณาเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุน ซึ่งกำหนดไว้ 10 ข้อ จะดำเนินการโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Development Bank) แล้วทำการคัดเลือกพร้อมจัดเรียงตามลำดับความสำคัญก่อนหลังตามผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ของจังหวัด เพื่อเสนอเข้าพิจารณาในคณะอนุกรรมการบริหารประจำจังหวัด จากนั้นเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ก่อนส่งต่อไปวิเคราะห์ทางการเงิน ซึ่งวงเงินสินเชื่อต่อรายนั้นอยู่ที่สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยกำหนดให้วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของวงเงินรวมของจังหวัดที่ได้รับจัดสรร และวงเงินที่เกิน 3 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ร้อยละ 25 ของวงเงินรวม รวมถึงต้องเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในลำดับสูงของจังหวัด ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการบริหารกำหนด อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาทนี้ ไม่ได้เป็นเพียงกองทุนเพื่อการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีนำไปปรับปรุงและพัฒนากิจการเท่านั้น แต่หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับกองทุนดังกล่าวนี้ไปแล้ว จะยังได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นต่างๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าฯ สมาพันธ์เอสเอ็มอี สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กร ด้านบัญชีและการเงิน ด้านการตลาด ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล ด้านการเพิ่มผลิตภาพ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านมาตรฐาน หรือด้านอื่น ๆ ตามสภาพปัญหาที่เอสเอ็มอีกำลังประสบ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจบรรลุผลและได้รับประโยชน์สูงสุด โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขอให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และหน่วยงานเครือข่ายของศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME หรือ ศูนย์ Rescue เดิม ได้เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการได้ทราบถึงแนวนโยบายกองทุนและยุทธศาสตร์ต่างๆ จากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้เอสเอ็มอีมีความเข้าใจในกฎเกณฑ์และแนวทางต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวได้เริ่มนำร่องและหารือในพื้นที่ เริ่มจากวันที่ 20 เมษายนนี้เป็นต้นไปแล้วที่จังหวัดพิษณุโลกเป็นแห่งแรก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญค่อนข้างมาก และขณะนี้จังหวัดต่าง ๆ ได้เริ่มทยอยกำหนดวัน โดยคาดว่าภายในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ จะได้เริ่มกระบวนการรับคำขอเพื่ออนุมัติวงเงินในทุกจังหวัด และอนุมัติกองทุนให้ผู้ประกอบการได้นำไปพัฒนากิจการของตนได้ทันที สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SME ทั่วประเทศ หรือที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 ราชเทวี โทรศัพท์ 0 2202 4508-9