สมาคมเพื่อนชุมชนจับมือ ม.ธรรมศาสตร์-สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯสานต่อ “เพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 5” ปั้นวิสาหกิจชุมชนด้วยนวัตกรรมต้นแบบพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เพิ่มศักยภาพแข่งขันรองรับการค้ายุคเปลี่ยนผ่าน นายวริทธิ์ นามวงษ์ นายกสมาคมเพื่อนชุมชนเปิดเผยว่า จากจุดเล็กๆของสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น ที่เป็นแหล่งรายได้เล็กๆ ท่ามกลางการแวดล้อมด้วยภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการขนาดใหญ่ๆในพื้นที่ แต่เส้นทางแห่งความร่วมมือครั้งสำคัญก็เกิดขึ้นได้และเป็นแนวทางแห่งความร่วมมือที่สร้างสรรค์ กับการก้าวสู่อนาคตไปด้วยกันพร้อมๆกันภายใต้ความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน สะท้อนถึงแนวทางของภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาคมที่เดินไปด้วยกันได้ ผ่านการเติมเต็มในด้านต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และด้านของการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน เพื่อความมั่นคงยั่งยืนพร้อมก้าวไปสู่อนาคตพร้อมๆกัน ทั้งนี้แนวทางธรรมศาสตร์โมเดล ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ผ่าน สมาคมเพื่อนชุมชนที่มีผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมชั้นนำ ภาครัฐผ่านหน่วยงานอาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)และภาคการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับการลงนามความร่วมมือ สานต่อโครงการ “โครงการสมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล” รุ่นที่ 5/2563 พัฒนาวิสาหกิจชุมชนต้นแบบพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเชิงการค้าสู่มาตรฐานสากล โดยสมาคมเพื่อนชุมชน ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ มีเป้าหมายให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งหนึ่งในภารกิจหลักของสมาคมเพื่อนชุมชนคือ การวางรากฐานอาชีพให้คนในชุมชนตามหลักการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ 4 (Symbiosis) โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ดำเนินโครงการเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 5 นับตั้งแต่ ปี 2559 ทั้งนี้ได้ใช้องค์ความรู้ผ่านนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำนักวิจัยลงพื้นที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน ผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ก่อเกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน นักศึกษาจะต้องลงทำงานจริงร่วมกับวิสาหกิจชุมชน ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน เพื่อเรียนรู้ปัญหาและนำความรู้จากห้องเรียนไปช่วยแก้ปัญหา หาจุดอ่อนของชุมชน ร่วมกันหาตลาดและปรับปรุงสินค้า วางระบบจัดการ สต๊อกสินค้า การทำบัญชี และวางระบบให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ความยากอยู่ที่การทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง และยินยอมที่จะทำต่อไปหลังสิ้นสุดโครงการ เพื่อจะได้ไม่กลับไปอยู่ในวงวนเดิมซึ่งเป็นปัญหาของวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ สำหรับโครงการเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล ยังได้เชื่อมโยงไปยังผู้ประกอบการ ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันเป็น “บริษัทพี่เลี้ยง” ให้กับวิสาหกิจชุมชนแต่ละกลุ่ม โดยทำงานร่วมกับนักศึกษา และ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ ในการยกระดับศักยภาพ ทั้งด้านบริหารจัดการ การปรับปรุงคุณภาพสินค้า และการบริการ สร้างรายได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงการค้าให้กับวิสาหกิจชุมชน จ.ระยอง สู่มาตรฐานสากล ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนต้นแบบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) ให้กับ จ.ระยอง ต่อไป “การลงนามความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ในครั้งนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันสร้างวิสาหกิจชุมชนให้มีรากฐานที่เข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ท้องถิ่นมาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและการบริหารที่เป็นระบบ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนอย่างแท้จริง โดยได้รับเกียรติจาก ว่าที่ร้อยตรีพิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เป็นประธานในพิธีลงนามและสักขีพยานดังกล่าว” ขณะที่น.ส. นุชนารถ จันทราวุฒิกร ผช.คณบดี ฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “ธรรมศาสตร์โมเดล คือการให้นักศึกษามาลงพื้นที่เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ซึ่งแนวคิดนี้มาจากปรัชญาการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เน้นไปที่การสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้กับหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะสมาคมเพื่อนชุมชน ทำให้เรื่องของแนวคิดธรรมศาสตร์โมเดลประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และนำไปสู่การต่อยอดในด้านต่างๆ โดยเฉพะเพราะสินค้าชุมชนที่สามารถยกระดับเพิ่มมูลค่าจากเดิม รวมถึงการต่อยอดด้านการตลาด มีการนำผลิตภัณฑ์ไปขายในคาเฟ่อเมซอน เป็นการเติมเต็มศักยภาพให้กับชุมชนและผู้ประกอบการ และสร้างรายได้สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชน ซึ่งก็จะมีการพัฒนาขยายฐานการตลาดสินค้าไปยังทั่วประเทศผ่านเครือข่ายพันธมิตร รวมถึงสมาคมเพื่อนชุมชนต่อไป ด้าน น.ส.สมจินต์ พิลึก ผู้ว่า กนอ.กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า กนอ.เป็นหน่วยงานที่ช่วยเข้ามาสนับสนุนทั้งในเรื่องของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเติบโตเป็นเอสเอ็มอี ที่มีความแข็งแกร่ง โดยสนับสนุนด้านสถานที่ รวมถึงการช่วยในด้านการให้ความรู้ และที่สำคัญคือการเพิ่มช่องทางทางการตลาด ผ่านพื้นที่ของกนอ.ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มศักยภาพให้กับสินค้าชุมชน และเป็นการส่งเสริมการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืน สำหรับโครงการสมาคมเพื่อนชุมชน-ธรรมศาสตร์โมเดล รุ่นที่ 5/2563 ปีนี้มีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมพัฒนา 9 กลุ่มอาทิ อาหารทะเลสด ผลไม้กวน น้ำมะม่วงหาวมะนาวโห่ ผ้าหมักน้ำนมข้าว น้ำข้าวโพดนมสด และสินค้าเกษตรแปรรูป เป็นต้น ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สมาคมเพื่อนชุมชน พัฒนาวิสาหกิจชุมชนมาแล้วทั้งหมด 29 กลุ่ม ก่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้วกว่า 30 ล้านบาท โดยปีนี้เป็นรุ่นที่ 5 มีวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมพัฒนา 9 กลุ่ม ดังนี้ 1.วิสาหกิจชุมชนกลุ่มประมงเรือเล็กหาดสุชาดา สินค้าประเภท ก้างปลาทอด และ เนื้อปลาทอด 2.วิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กตากวน-อ่าวประดู่ สินค้าประเภท หอยแมลงภู่แปรรูป 3.วิสาหกิจชุมชนแหลมสงวน สลัดโรลข้าวไร้ท์เบอรี่ สินค้าประเภท สลัดข้าวไรท์เบอร์รี่ 4.วิสาหกิจชุมชนผลไม้แปรรูปตำบลเนินพระ สินค้าประเภท ผลไม้กวน กล้วยกวน 5.วิสาหกิจชุมชนอาหารปากคลองกรอกยายชา สินค้าประเภทหมูยอ ปลายอ 6.วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์แปรรูป PING AN 1568 ตากวน – อ่าวประดู่ สินค้าประเภทน้ำมะม่วงหาว มะนาวโห่ 7.วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหูผ้าหมักน้ำนมข้าว สินค้าประเภท ผ้าหมักน้ำนมข้าว 8.วิสาหกิจชุมชนหมี่กรอบ สินค้าประเภท ทองม้วน 9.วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์น้ำข้าวโพด หัวน้ำตกพัฒนา สินค้าประเภทน้ำข้าวโพด น้ำข้าวโพดนมสด โครงการนี้นอกจากจะเป็นการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของสินค้าชุมชนที่มีอยู่แล้วยังเป็นต้นแบบสำคัญในการต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งให้กับสินค้าชุมชนขยายออกไปในพื้นที่ต่างๆต่อไปได้อีกในอนาคต